กรุงเทพฯ 8 ต.ค. -ตลาดจับตาเฟด และผลการดีเบตรอบสองระหว่างคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังสัปดาห์ที่ผ่านบาทอ่อนค่า และหุ้นฟื้นตัว
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (3-7 ต.ค.)ค่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ก็ยังคงระบุถึงโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของ Hard Brexit และแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากกลุ่มผู้นำเข้าในประเทศ ซึ่งบางส่วนอาจมาจากผู้ค้าทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก
สำหรับในวันศุกร์ (7 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (30 ก.ย.)
ด้านดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ จากมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการที่น่าจะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับลดลงในวันศุกร์จากแรงขายทำกำไร รวมทั้งแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารจากการคาดการณ์ถึงการตั้งสำรองที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,504.34 จุด เพิ่มขึ้น 1.42% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 16.37% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 46,280.68 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 560.33 จุด เพิ่มขึ้น 1.56% จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับแนวโน้ม สัปดาห์หน้า (10-14 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,525 และ 1,550 จุด ตามลำดับ และธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.70-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์น่าจะยังคงอยู่ที่ความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และผลการดีเบตรอบสองระหว่างคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต ขณะที่ ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วยสถานการณ์ปัญหาในภาคธนาคารของเยอรมนี รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,525 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/59 รวมทั้ง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การเปิดเผยบันทึกการประชุมเฟด และยอดค้าปลีก สำหรับข้อมูลต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน และข้อมูลการค้าของจีน
ในขณะที่ วานนี้ (7 ต.ค.)ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,240.49 จุด ลดลง 28.01 จุด หรือ -0.15% ดัชนี แนสแดค ปิดที่ 5,292.40 จุด ลดลง 14.45 จุด หรือ -0.27% ดัชนี เอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,153.74 จุด ลดลง 7.03 จุด หรือ -0.33%. ตลาดน้ำมันเวสต์เท็กซัส สหรัฐปิดลดลง 63 เซนต์ ปิดที่ 49.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ,เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 58 เซนต์ ปิดที่ 51.93 ทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 1.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,251.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล –สำนักข่าวไทย