กรุงเทพฯ 22 ม.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งช่วยเอสเอ็มอีตัวเล็ก เตรียมทุน 78,000 ล้านบาท ดันเอสเอ็มอีแบงก์ลุยสินเชื่อรายย่อย หลังซุปเปอร์บอร์ดเห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็อีแบงก์) ออกจากแผนฟื้นฟู จึงเตรียมแผนช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 4.0 ในปี 2561 โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อใหม่ 3 โครงการ เตรียมวงเงิน 78,000 ล้านบาท ทยอยออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 (Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมกับแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี และโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท พร้อมออกมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.S) สำหรับเอสเอ็มอี คงคุณภาพสินค้าตามความต้องการของตลาด เพื่อบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยวชุมชน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูฯ เพื่อก้าวต่อไปและไม่กลับสู่ปัญหาเหมือนอดีตที่ผ่านมา ครม.กำหนดเป้าหมายให้มุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท และปรับองค์กรให้เป็น “M SME Development Bank” โดยตัว “M” มาจากคำว่า “Micro” เพื่อสนับสนุนกลุ่ม “จุลเอสเอ็มอี” หรือผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็กในชุมชน การปล่อยสินเชื่อจากเอสเอ็มอีแบงก์จากนี้ไป จึงเน้นรายย่อยไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายมากขึ้น จากเดิมเน้นไม่เกิน 5,15 ล้านบาท จึงคาดว่าเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีตัวเล็ก เพื่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปทั่วประเทศ สำหรับเอสเอ็มอีแบงก์เตรียมแพคเกจสินเชื่อเพื่อรายย่อยวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4 ปีแรก
โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 และสินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรก คือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้ การมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรจะไม่ให้ซ้ำซ้อนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรภาคการผลิต ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ต้องการส่งเสริมด้านเกษตรแปรรูป การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน หากไม่มีหลักประกันส่งให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 เป็นเวลา 4 ปี เพราะต้องการมุ่งช่วยเหลือผู้มีโครงการแนวคิดดีมีศักยภาพ ต้องการคุมยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี 2561 ขณะที่สินเชื่อตั้งแต่อยู่ในแผนฟื้นฟูปี 2558-2560 จะคุมให้ไม่เกินร้อยละ 5 คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสินเชื่อคงค้าง 150,000 ล้านบาท
สำหรับแผนส่งเสริม “ไมโครเอสเอ็มอี” ผลักดันรายได้สู่ท้องถิ่น การนำหน่วยรถม้าเติมทุนกว่าพันคัน กระจายลงพื้นที่ เพื่อบริการเคลื่อนที่ให้คำปรึกษา แต่ไม่ให้อนุมัติสินเชื่อเพื่อหวังเติมทุน เพื่อรับข้อมูลลูกค้า และยังขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่ง ที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก และเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรสนับสนุนด้านต่าง ๆ ร่วมกับหลายหน่วยงานให้คำที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอี โดยจะตั้งศูนย์ให้ได้ 270 แห่งทั่วประเทศที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์บริการเอสเอ็มอี (OSS) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เดินหน้าแผนโครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก อาทิ ปตท. เอสซีจี เดนโซ่ เดลต้า นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า หวังปั้นเอสเอ็มอีเกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 .- สำนักข่าวไทย