กรุงเทพฯ 9.ต.ค.- นายกรัฐมนตรี เปิดประชุม ACD Connect 2016 ย้ำความสำคัญของภาคเอกชน ต่อการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเชีย เน้น ห่วงโซ่คุณภาพทางธุรกิจ และความเชื่อมโยงในทุกด้าน หวังใช้เวที ACD Connect 2016 วางรากฐานความเชื่อมโยงทางการเงินในเอเชีย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมภาคธุรกิจในกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งแรก (ACD Connect 2016) ในหัวข้อบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจต่อวิวัฒนาการของ ACD (The Indispensable Role of Business in the Evolution of ACD) ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบัน ACD เติบโตขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่มี 18 ประเทศ ขยายจนเป็น 34 ประเทศ สะท้อนว่าการส่งเสริม “ความร่วมมือ” และ “การหารือ” อย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ โดยนำจุดแข็งที่หลากหลายของเอเชีย ผนึกพลังขับเคลื่อน จะทำให้เอเชียเป็นประชาคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นพลังสำคัญ ในการสร้างกระบวนใหม่ และความเข้มแข็งของ ACD โดยการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้เอเชียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม สมดุลและยั่งยืน สามารถยืดหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวน และความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และมีส่วนกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวด้วย
“ภาคเอกชนต้องจับคู่กับรัฐบาล หากันให้เจอ ให้รัฐบาลนำ แล้วเอกชนเดิน เศรษฐกิจถึงจะเติบโตได้ ไม่มีประเทศไหนที่จะเติบโตได้ โดยที่เอกชนและประชาชนไม่ร่วมมือ ดังนั้น รัฐบาลและเอกชนจะต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ในฐานะของผู้บริโภคหลักของประเทศ ทุกอย่างจะต้องเดินในรูปแบบประชารัฐ จึงจะสำเร็จ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ จะต้องสร้างห่วงโซ่คุณภาพทางธุรกิจ สนับสนุนช่วยเหลือกัน โดยไม่แข่งขันในเรื่องราคา ต่อสู้กันจนราคาตกต่ำ และยอมรับว่า ไทยยังเป็นประเทศที่ก้าวไม่ข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลางโดยติดกับดักจากแนวคิดต่างประเทศ และปัญหาภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไขและปฎิรูปในทุกด้านอยู่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอเชียต้องร่วมมือสร้างห่วงโซ่ความเชื่อมโยง โดยเอเชีย เพื่อเอเชีย ขณะที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการลงทุนในระยะยาว ที่มีผลตอบแทนชัดเจนในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และการไปมาหาสู่ของคน และเป็นประโยชน์ในการกระจายโอกาส ยกระดับการพัฒนาอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาระบบประเทศ
“ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปสู่ประเทศไทย 4.0 กำหนดสาขาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรับปรุงระบบบริหารราชการและปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ ไปพร้อมกับการเร่งยกระดับความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ครอบคลุม มีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย วงเงิน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน และเป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ“ นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ได้ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงด้านเงินทุน และการเงินในเอเชียยิ่งขึ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ (FINTECH) ได้เปลี่ยนโฉม และกำลังเปลี่ยนโฉมภาคการเงินใน ACD หลายประเทศ ประเทศไทยก็ใช้ประโยชน์จาก FINTECH และได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดลง ถึงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว เอเชียได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลก ด้วยการลงทุนด้าน FINTECH เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า คิดเป็นมูลค่าถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ FINTECH ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวเอเชียให้สะดวก และมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและเงินทุนยิ่งขึ้น ในอนาคต ชาวเอเชียทุกคน อาจไม่จำเป็นต้องถือเงินสดหรือบัตรเครดิตอยู่ในมือ ก็ซื้อของได้ ส่งเงินกลับประเทศได้ โดยค่าบริการที่ไม่แพง เข้าถึงแหล่งทุน และเปิดธุรกิจได้ด้วยการระดมทุนจากผู้ที่เชื่อในธุรกิจ บนพื้นฐานของระบบที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
“อยากขอให้แต่ละประเทศ ร่วมกันการพัฒนาความเชื่อมโยงทางการเงิน โยงใยครอบคลุมได้ทั่วเอเชีย และโลก ซึ่งผู้แทนภาคการเงินการธนาคาร ฝ่ายผู้กำกับดูแล และฝ่ายผู้ต้องการใช้ประโยชน์ FINTECH ได้มาหารือกันในการประชุมนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาเล่าประสบการณ์ หาแนวทางวางรากฐานความเชื่อมโยงทางการเงินในเอเชีย ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสนอแนะให้แต่ละประเทศไปแก้กฎหมายให้การดำเนินงานสอดคล้องกันด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว .- สำนักข่าวไทย