ธปท. 12 ม.ค. – ธปท.แนะสภาผูู้ส่งออกกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลคู่ค้า ลดผลกระทบบาทแข็ง
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ หรือสภาผู้ส่งออกเข้าพบผู้ว่าฯ ธปท. เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินและแนวโน้มการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งบางช่วงเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควรไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท.ได้เข้าดูแล เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศปี 2560 ที่ปรับสูงขึ้น โดยการดูแลที่ผ่านมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยได้เปรียบการค้ากับต่างประเทศ หรือเพื่อฝืนทิศทางของตลาด แต่เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว
นอกจากนี้ ในภาวะที่การค้าระหว่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูงจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออก และ ธปท. จึงเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เริ่มตั้งแต่การเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาท หรือเงินสกุลคู่ค้าที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาท แทนการใช้เงินดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการยังเลือกกำหนดราคารูปดอลลาร์สหรัฐเกือบร้อยละ 80 แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐไม่ถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศในอนาคตก็อาจพิจารณาฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน
นางจันทวรรณ กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทางการได้ผลักดันโครงการ FX options ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในช่วงปลายปีก่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับคูปองไปแล้วประมาณ 2,000 ราย โดยแต่ละคูปองสามารถใช้ซื้อ options หรือล็อคเรต เพื่อประกันความเสี่ยงสำหรับมูลค่าส่งออกประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ธปท.และสภาผู้ส่งออกจะร่วมกันขยายผลของโครงการนี้สู่สมาชิกสภาผู้ส่งออกในวงกว้างให้มากขึ้น
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกและ ธปท.เห็นพ้องร่วมกันว่าช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากช่วงจังหวะนี้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อยกระดับผลิตภาพ (productivity) ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย