กทม. 11 ม.ค.- การเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน จากเดิมที่มีสาขาวิชาประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ทุกสถาบันเน้นเป็นหลักสูตรการผลิตสื่อและวารสารดิจิทัล
แม้การรีวิวและขายเครื่องสำอางผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง จะมีผู้ติดตามถึงกว่า 20,000 คน แต่น้องคนนี้ก็ยังมาเรียนต่อในสาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัลในมหาวิทยาลัย หวังช่วยเพิ่มยอดขาย ซึ่งทำได้เป็นเท่าตัว
นี่เป็นตัวอย่างของการปรับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทำมาแล้วกว่า 2 ปี จากเดิมที่มี 5 สาขา เช่น วารสารศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อยอดนักศึกษาลดลง ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน จึงปรับหลักสูตรใหม่ทั้งหมด มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น สื่อสารการแสดง การสร้างสรรค์ และสื่อสารการตลอดดิจิทัล เป็นนิเทศศาสตร์ที่เน้นเพื่อการค้าขาย หรือเพื่อเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น
โฉมหน้าทีมบริหารชุดใหม่ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้วนเป็นอาจารย์ที่มีมุมมองและประสบการณ์ด้านสื่อดิจิทัล รองรับกับหลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษานี้ จากเดิมที่มี 6 สาขาวิชาคล้ายกับมหาวิทยาลัยอื่น ปรับมาเหลือ 2 หมวด คือ หมวดสื่อสารกลยุทธ์ ซึ่งมีการเรียนการสอนโฆษณา สื่อสารองค์กร และบริหารการสื่อสาร กับหมวดวารสารศาสตร์และการผลิตสื่อ เรียนวารสารศาสตร์ ภาพยนตร์ ภาพถ่าย วิทยุ โทรทัศน์ ที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น และมีการสร้าง “ดิจิทัล มีเดีย เซ็นเตอร์” ปรับปรุงสตูดิโอ ห้องผลิตสื่อ และออกอากาศ แบบดิจิทัลใหม่ทั้งระบบ
ทุกมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรด้านการสื่อสารมวลชนให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล เช่น จุฬาฯ เตรียมปรับภาควารสารสารสนเทศ เป็น “journalism และสื่อใหม่” ศิลปากร ควบรวมเอกวารสารศาสตร์กับวิทยุโทรทัศน์ เป็น “สื่อสารมวลชน” ม.บูรพา เปลี่ยนเป็นวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ ม.หอการค้าไทย เป็นวารสารดิจิทัล ม.กรุงเทพ เป็นบรอดแคสติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เป็นวารสารสารสนเทศ ขณะที่ ม.สวนดุสิต ยุบสาขานิเทศศาสตร์. – สำนักข่าวไทย