กรุงเทพฯ 14 พ.ค.-ธปท.รับกังวลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานทรุด ลุ้นรัฐเร่งกระจายวัคซีนตามแผน
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิดระลอก 3 รุนแรงกว่าที่ผ่านมา คาดกระทบจีดีพีที่ร้อยละ 1.4 – 1.7% ขณะที่การระบาดระลอก 2 กระทบจีดีพีที่ 1.2% โดยการระบาดที่รุนแรง และยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งการระบาดระลอก 3 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงเร็ว คาดว่าต้องใช้มาตรการคุมเข้มไปอีกระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี หากมีการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 3.0-5.7ในช่วงปี 2564 – 2565
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยหลังถูกผลกระทบโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีตัวแปรสำคัญ คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วในการฉีด เพราะรอบนี้กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงกว่าเดิม โดยหากฉีดวัคซีนได้ 2.7 – 3.3 แสนโดสต่อวัน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 3/65 ซึ่งล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 2/65 แต่หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสแรกปี 65 จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 5-6 แสนโดสต่อวัน หรือ มากกว่า 4 เท่าจากปัจจุบันฉีดต่อวัน 1.5 แสนโดส
นอกจากนี้ หากฉีดวัคซีนได้เร็วจะมีผลต่อเวลาการเปิดประเทศ ซึ่งหากในปีนี้ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส จะทำให้เปิดประเทศในไตรมาส 4/65 แต่หากกรณีเลวร้าย โดยจัดหาหรือกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ นอกจากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าไปถึงไตรมาส 4/65 แล้ว ยังทำให้การเปิดประเทศเลื่อนออกไปหลังปี 2565 อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนให้เร็ว เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้นกันหมู่เร็ว และ เปิดประเทศเร็วขึ้นตามไปด้วย ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และ ถ้าอนาคตภาครัฐหางบจัดหาวัคซีน และช่วยกระตุ้นการจับจ่ายเพิ่มเติมจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่านี้
ขณะที่การระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ ในระยะสั้นกระทบต่อฐานะทางการเงินประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคท่องเที่ยว บริการ และร้านอาหาร ทำให้ ธปท. และ ภาครัฐออกมาตรการดูแลสนับสนุนต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มาก โดยเฉพาะส่งออกที่คำสั่งซื้อยังมี จากเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และปรับตัวด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน โดย ธปท. มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งยืดเยื้อ จะทำให้แรงงานหางานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียทักษะการทำงานไป โดยกลุ่มผู้ว่างงานส่วนจะเป็นกลุ่มบริการ และกลุ่มคนจบใหม่.-สำนักข่าวไทย