รัฐสภา 19 ธ.ค.- กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาปรับแก้หลายประเด็น ไม่รีเซ็ตกรรมการ ป.ป.ช. ให้อยู่ครบวาระ 9 ปี แต่ยังไม่ชี้ขาด ต้องเข้า สนช.อีกครั้ง
นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ชี้แจงรายละเอียดการปรับเพิ่มหลายประเด็น เช่น ประเด็นที่กรรมาธิการฯ ในสัดส่วน ป.ป.ช.เสนอ ทั้งเรื่องการ เข้าถึงข้อมูล ดักฟังโทรศัพท์ แชทไลน์ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ก็มีข้อกังวลท้วงติงเรื่องกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
ส่วนข้อเสนอให้อำนาจสะกดรอยตาม และอำพรางตัว นายวิชา กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วย โดยการเข้าถึงข้อมูลให้เป็นอำนาจของอธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิจารณาอนุญาต เนื่องจากเกรงเรื่องข้อมูลรั่วไหล โดยอธิบดีต้องพิจารณาตามเงื่อนไข และตระหนักในคดี ไม่ใช่อนุญาตตามอำเภอใจ และความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่กรรมการ ป.ป.ช. ไม่ใช่ระดับเจ้าหน้าที่
“ยอมรับว่า การเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ต้องระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเหมือนเช่นที่เคยเกิดในต่างประเทศมาแล้ว เพราะเรื่องของไซเบอร์อันตรายมาก” นายวิชา กล่าว
ส่วนกรณีการตรวจสอบทรัพย์สิน หนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ครอบคลุมถึงคู่สมรส นอกสมรส และกิ๊กนั้น เป็นเพียงวางกรอบแต่ให้ ป.ป.ช.ไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเอาเอง ส่วนจะรวมถึงคู่รักเพศเดียวกันด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.กำหนด
นายวิชา ยังกล่าวถึง วาระการดำรงตำแหน่ง ของ ป.ป.ช. ว่า เสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการเห็นชอบให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน อยู่ครบวาระ 9 ปี โดยให้เหตุผลว่า ทำงานมีประสิทธิภาพ ยกเว้น กรธ. ที่สงวนความเห็นไว้ ซึ่งกรณีดังกล่าว จะไปพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง ซึ่งอาจตั้งกรรมาธิการร่วม ขึ้นมาพิจารณา
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของกรรมการ ป.ป.ช.บางคน กับผู้ใหญ่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนอาจทำให้สังคมคลางแคลงใจในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.นั้น นายวิชา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประธานป.ป.ช.ยอมรับกับสื่อมาโดยตลอด ว่าตัวเองมีต้นทุนต่ำ จึงต้องการให้ดูผลงานและการกระทำ ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้เขียนกลไกการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. หลายเรื่องทั้งการทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด .- สำนักข่าวไทย