ป.ป.ช. 5 ต.ค.-เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ปรับระยะเวลาการไต่สวน รวมขยายไม่เกิน 3 ปี เตรียมประกาศตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินปลายเดือน ต.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้เรื่องบทบาทและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่สำนักงาน ป.ป.ช.(สนามบินน้ำ) โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 มีพัฒนาการที่มากขึ้น โดยกำหนดว่าเรื่องใดที่มีคามผิดไม่ร้ายแรง ป.ป.ช.สามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันทำหน้าที่แทนได้
นายวรวิทย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่นี้ ปรับการทำงานของ ป.ป.ช.อย่างมาก ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งการป้องกันจะเป็นลักษณะเชิงรุกมากขึ้น โดยในกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุสงสัยในการดำเนินการหน่วยงานของรัฐ ก็สามารถมีหนังสือที่เป็นข้อเสนอแนะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดการทุจริตขึ้น นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือและร่วมมือดำเนินการ ซึ่งจะมีผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย นอกจากนี้ ยังมีกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กองทุนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนของพยาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การปราบปราม ได้กำหนดว่าการไต่สวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายเวลาได้ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี ส่วนด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ถือเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมงานด้านการป้องกัน ซึ่งคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายเดิม กำหนดไว้เฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น แต่ในกฎหมายใหม่กำหนดหมายรวมถึงคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่อยู่กินฉันท์สามีภรรยาแล้ว ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมได้ โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ป.ป.ช.เตรียมที่จะประกาศให้ทราบว่าตำแหน่งใดบ้าง
ด้านนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. กล่าวว่า ภารกิจปราบปรามของ ป.ป.ช.เน้นหนักเพิ่มเติมเรื่องประสิทธิภาพการทำงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีบทคุ้มครองให้กับผู้ที่มาร่วมภารกิจกับ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องรับโทษทางอาญาและทางแพ่งด้วย
ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ มีเรื่องใหม่ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการทุจริต ซึ่งมีผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมีความโปร่งใส ดังนั้นกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่เสียเอง ได้กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันยื่นต่อประธานรัฐสภาได้ หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย ก็ให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นสอบสวนกรณีนี้ ซึ่งเป็นกลไกพิเศษที่ต่างจากกฎหมายเดิม ดังนั้น แรงเสียดทานอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาคการเมืองและความเห็นของประธานรัฐสภา ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย