ทำเนียบฯ ธ.ค. – คลังเผยมาตรการช้อปช่วยชาติมีผลตอบรับดี ส่วนมาตรการช่วยคนจนเฟส 2 จะเร่งดำเนินการให้เสร็จเดือนนี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากมาตรการช้อปช่วยชาติครบกำหนดเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) เพื่อให้ประชาชนนำใบเสร็จจากการซื้อสินค้านำมาหักลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ยอมรับว่าการลดภาระภาษีส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นช่วงท้ายปี
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประชาชนให้การตอบรับมาตรการดังกล่าวอย่างดี มีประชาชนซื้อสินค้าและบริการ เพื่อขอใบกำกับภาษีไปหักลดหย่อนภาษีปีภาษี 2560 และยืนยันว่าปลายปีนี้คงไม่มีมาตรการช้อปช่วยชาติรอบ 2 อีก เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนวางแผนการใช้จ่ายตามเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวนั้น กรมสรรพากรกำลังหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองติดกับแหล่งท่องเที่ยวหลักมากขึ้น และต้องประเมินว่าการหักลดหย่อนภาษีดังกล่าวมาจากการเที่ยวเมืองรองจริงหรือไม่
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะ 2 คาดว่าจะสรุปและเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ในสัปดาห์นี้ต้องหารือเพิ่มเติมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสรุปมาตรการร่วมกันในเชิงปฏิบัติ เพื่อความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนผู้ลงทะเบียนสวัสดิการ 11.4 ล้านคนให้มีโอกาสเข้าถึง 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน , โอกาสทางการศึกษา , โอกาสในการหางานทำ และโอกาสการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประกอบด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในส่วนของแบงก์รัฐพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐในการช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐผ่าน 3 แนวทาง คือ 1. การเข้าถึงสินเชื่อนำเงินไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ 2. การช่วยเหลือรายย่อยผ่านเงื่อนไขผ่อนปรนทั้งอัตราดอกเบี้ยและหลักประกันและข้อกำหนดอื่น และ 3.การส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน ด้วยการฝึกอบรมกับหลายหน่วยงานที่ลงนามเข้าร่วมโครงการ มุ่งเน้นกลุ่มเป้ามหมายทั้งรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาทต่อปี เมื่อผ่านการอบรมแล้วมีแนวโน้มประกอบอาชีพที่มีศักยภาพจะปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย กระจายการช่วยเหลือทั้ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และแบงก์รัฐอื่น.-สำนักข่าวไทย