กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – อนุกรรมการฯการมีส่วนร่วม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เสนอปฏิรูป ด้วยการขึ้นทะเบียนเอ็นจีโอ ปรับลดผลประโยชน์ทับซ้อนข้าราชการให้รับเฉพาะเบี้ยประชุมรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ ปรับรายได้ปิโตรเลียมใหม่คงสัดส่วนกระจายท้องถิ่นเท่าเดิม ร้อยละ 60 แต่เสนอไม่ส่งรายได้ อบจ.
ในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 โดยอนุกรรมการ การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งจะมีการรวบรวมความเห็นเสนอต่อรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไป
นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการ การปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า อนุกรรมการฯ มีข้อเสนอหลายด้านและเสนอมีการร่างกฏหมาย 4 – 5 ฉบับ เช่น การปรับโครงสร้างกระทรวงพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์การแยกงานด้านการกำกับ และการดำเนินงานออกจากจากกัน ,เรื่องการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติให้มีลักษณะเดียวกับ สำนักงานอีไอเอของสหรัฐ เพื่อจะได้มีแหล่งข้อมูลเผยแพร่ที่ตรงกัน ไม่สร้างความสับสนแก่ประชาชน การสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและเอ็นจีโอ
“ในส่วนของเอ็นจีโอควรต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน จากเดิมที่เอ็นจีโอในไทยมีอิสระที่สุดในโลก โดยควรจะต้องขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อจะได้ตรวจสอบที่มาที่ไป และรับผิดชอบในข้อมูลที่มีการเปิดเผย ในขณะเดียวกัน ควรแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการ ที่ไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรจะรับเบี้ยประชุมเท่านั้น ส่วนเงินเดือนและโบนัสไม่ควรได้รับ”นายมนุญ กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)โดยมีเงื่อนไขว่า พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องมีการพิจารณาและดำเนินการกำหนดว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมก่อน
ส่วนเรื่องการจัดสรรค่าภาคหลวงสู่ชุมชน นั้น ควรจะแก้ไขหลักเกณฑ์ เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลักใหญ่เหมือนในปัจจุบันคือ ร้อยละ 40 เข้าส่วนกลาง อีกร้อยละ 60 เข้าสู่ท้องถิ่น แต่เปลี่ยนแปลง สัดส่วนในท้องถิ่นใหม่ โดยตัดในส่วนการนำส่งรายได้สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ออกไป จากเดิมได้ร้อยละ 20 นำส่วนนี้ ไปเพิ่ม ให้ องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาลพื้นที่ผลิต เพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 , อบต./เทศบาลจังหวัด จากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 และ อบต.ทั่วประเทศจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15
ด้านพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน กล่าวว่า มีข้อเสนอแนวทางปฏิรูปส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในกลุ่มอุตสาหกรรม ,มาตรฐานด้านพลังงาน ,การใช้บริษัทจัดการพลังงาน ESCO เข้ามาร่วมในการบริหารจัดการอาคารของรัฐ ซึ่งคาดว่าหากทำได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของรัฐได้ถึง 2,900 ล้านบาท/ปี. -สำนักข่าวไทย