ก.แรงงาน 13 พ.ย.-ปลัดฯแรงงาน ชี้การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิสูจน์อัตลักษณ์ฯ ยันคุ้มค่า แม้เหลือเวลาพิสูจน์สัญชาติถึงสิ้นปีนี้
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการจัดซื้อแต่อย่างใด โดยการพิจารณาว่าจะจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 แต่งตั้งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือสัญชาติของแรงงานต่างด้าวและเป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลดังกล่าว ให้หน่วยงานราชการอื่นๆสามารถดึงไปใช้ได้ จากเดิมที่ฐานข้อมูลอัตลักษณ์ของแรงงานต่างด้าวอยู่แบบกระจัดกระจาย
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปโดยยืนยันว่า การพิสูจน์อัตลักษณ์โดยเครื่องสแกนม่านตามีความจำเป็นเนื่องจากมีความแม่นยำ มากกว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือที่เคยมี ซึ่งปัจจุบันแรงงานต่างด้าวลายนิ้วมือไม่ชัด และหายไป ทำให้การพิสูจน์อาจคาดเคลื่อน และเดิมการใช้เครื่องสแกนม่านตาเริ่มจากกรมเจ้าท่าที่ใช้พิสูจน์แรงงานต่างด้าวในกิจการประมง ซึ่งเมื่อพิสูจน์เสร็จก็ต้องมาขอใบอนุญาตทำงานที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งทำให้เกิดความซับซ้อนและยากต่อการดำเนินการ ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวก กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน รับนโยบายนี้ โดยได้ยืมเครื่องสแกนม่านตาจากกรมเจ้าท่า จำนวน 30 เครื่องที่มี มาดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานในกิจการประมงที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติจำนวน 7-8 หมื่นคนก่อน ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิสูจน์แล้วกว่า 2 หมื่นคน แต่ยังเหลือแรงงานต่างด้าวในกิจการทั่วไปอีกกว่า 2 ล้านคนที่ยังไม่พิสูจน์อัตลักษณ์ ขณะที่เครื่องที่มีนี้ไม่เพียงพอ จึงมีแนวทางในการจัดซื้อเพิ่ม แต่จะซื้อกี่เครื่องนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ
ส่วนประเด็นที่ว่า การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาจะคุ้มค่าต่อการใช้งานจริงหรือไม่ เพราะรัฐกำหนดให้แรงงานต่างด้าวทุกคนต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสรน็จภายในสิ้นปีนี้ ก่อน พ.ร.บ.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2561 ส่วนตัวเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุดแน่นอน
ทั้งนี้ การพิสูจน์อัตลักษณ์ที่แม่นยำไม่เพียงแต่ช่วยให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ยังช่วยขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศด้วย.-สำนักข่าวไทย