รร.รอยัลริเวอร์ 13 พ.ย.-ในเวทีสัมนาสร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง เสนอเร่งป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เผยปี 2558 เด็ก สตรีถูกทำร้ายเฉลี่ยวันละ 66 คน
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน เปิดการสัมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีในคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากรัฐ เอกชน ภาคประชาชนสังคม และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 200 คน
นายพรเพชร กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ตามนโยบายรัฐที่มีมติเมื่อปี 2542 กำหนดให้เดือน พย.ทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและในครอบครัว แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ พม.ฝ่ายบริหารและ สนช.ฝ่ายกฎหมาย เข้ามาจับมือร่วมกันดำเนินการป้องกันการกระทำความรุนแรงงานในครอบครัว สู่การขับเคลื่อนกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการขับเคลื่อนแก้ไข พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และเดินหน้าหารือถึงการแก้ไขกฎหมายการค้าประเวณีด้วย
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ พม.ต้องบรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วนในการขับเคลื่อน ตามเป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและสร้างพลังให้แก่ สตรี และเด็ก โดยใช้ 3 แนวทาง คือการสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง ,การคุ้มครองช่วยเหลือเหยื่อ บำบัดพฤติกรรมผู้กระทำแทนการลงโทษและการเสริมพลัง การติดตามเยี่ยมบ้าน การสร้างรายได้ ให้ความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย การสัมนาครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ก่อนนำเสนอเป็นเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนต่อรัฐ เพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลงและหมดไปจากสังคมไทย
นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Violence.in.th พบ ปี 2558 มีเด็ก สตรี ถูกกระทำความรุนแรงงานเฉลี่ย 66 คนต่อวัน ขณะที่ปี 2559 พบ 55 คนต่อวัน แม้ปีที่ผ่านมาจะลดลงเล็กน้อย แต่ปี 2560 มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ซึ่งความรุนแรงที่พบส่วนใหญ่ เป็นการทำร้ายร่างกายระหว่างสามีภรรยา เนื่องจากเมาสุรา/ยาเสพติด จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ ชลบุรี กาญจนบุรี น่าน ราชบุรี พัทลุง เชียงใหม่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี แพร่และสุโขทัย รากเหง้าของปัญหามาจากความเชื่อว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาภายใน ชายเป็นใหญ่ เด็ก สตรีคือผู้ที่อ่อนแอ การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกิดความตระหนักสร้างบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทยที่จะไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ .-สำนักข่าวไทย