กรุงเทพฯ 3 ต.ค.-พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นครั้งแรกที่มีการออกแบบเป็นพระเมรุมาศ 9 ยอด มีความพิเศษ และมีความหมายแฝงนัยตามคติโบราณ ซึ่งจากแนวคิดของผู้ออกแบบรังสรรค์ออกมาเป็นผลงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ
พระเมรุมาศอาคารทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด เรือนยอดตรงกลางเป็นบุกษกใหญ่เหมือนเป็นมุขอาคาร รายล้อมด้วยบุษบกขนาดเล็กลดหลั่นลงกันลงมาที่มุมทั้ง 4 ด้าน ที่นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร ตั้งใจออกแบบขึ้น ให้มีความพิเศษเป็นพระเมรุมาศ 9 ยอด บนผังพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 50.49 เมตร
ผู้ออกแบบเล่าว่า ได้แนวคิดการจัดวางลักษณะยอดมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จ.ประจวบคีรีขันธ์ การออกแบบต้องยึดหลักตามโบราณราชประเพณี และยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เมื่อแบบร่างลงตัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบพระเมรุมาศบุษบก 9 ยอด และพระราชทานคำแนะนำในเรื่องการทำงานไว้หลายประการ
พระเมรุมาศครั้งนี้มี 4 ชั้น ที่กึ่งกลางของชั้นบนสุด คือ บุษบกประธานยอดปราสาทมี 7 ชั้นเชิงกลอน เป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธาน และมีอาคารทรงบุษบกตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ชั้นชาลาชั้นที่ 3 มีซ่างทรงบุษบก สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และชั้นชาลาที่ 2 มีหอเปลื้อง ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และอุปกรณ์สำหรับพระราชพิธี
การออกแบบใช้หลักแนวคิดไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ส่วนอีกนัยของบุษบก 9 ยอด ผู้ออกแบบบอกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีสร้อยพระนามเป็นรามาธิบดี คือ รามาวตาร ซึ่งก็คือพระนารายณ์ อีกทั้งพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยใช้หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งก็คือหลักของพระพุทธเจ้า จึงนำมาตีความว่าพระองค์ท่านเป็นดั่งพระโพธิสัตว์อีกปางหนึ่ง เกิดเป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ และที่ไม่เหมือนครั้งใด คือ การออกแบบเสาประดับทั้งหมดเป็นเสาครุฑ สื่อถึงพาหนะของพระนารายณ์
การสื่อถึงพระโพธิสัตว์ยังปรากฏในอาคารประกอบบริเวณมณฑลพิธี ที่ออกแบบเป็นหน้าจั่ว มีซุ้มคูหาทรงภควัม ผู้ออกแบบรังสรรค์สถาปัตยกรรมของอาคารประกอบและพระเมรุมาศให้มีความกลมกลืน สวยงาม และตรงตามคติโบราณ
ทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ คือ พระที่นั่งทรงธรรม เป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ เป็นอาคารชั้นเดียวยาว 155 เมตร และที่ฝาผนังของอาคารเป็นงานจิตรกรรมบอกเล่า 46 โครงการพระราชดำริ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ที่บริเวณมุขด้านหน้าตรงกลางพระที่นั่งทรงธรรม เป็นภาพโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการพระราชดำริในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผนังฝั่งด้านขวา เป็นโครงการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านซ้ายเป็นโครงการในภาคกลางและภาคใต้ วาดและลงสีตามภาพเหตุการณ์จริง เก็บรายละเอียดทั้งฉลองพระองค์ รวมทั้งกล้องและแผนที่ในพระหัตถ์
ครั้งนี้พระเมรุมาศมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ที่ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ ฝั่งทิศเหนือติดตั้งสะพานเกริน สำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นสู่พระเมรุมาศ ภาพรวมครั้งนี้นับว่ามีความพิเศษและรวมสุดยอดงานช่างศิลป์ไทยในทุกด้าน ผ่านการสร้างสรรค์งานอย่างวิจิตรบรรจง งดงามทั้งแบบร่วมสมัยและตามโบราณราชประเพณี และที่สำคัญคือความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของคนไทย.-สำนักข่าวไทย