กรุงวอชิงตัน ดีซี 1 ต.ค.- นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงสหรัฐฯ แล้ว หารือกับภาคเอกชนไทยในสหรัฐฯ เตรียมพร้อมข้อมูลหารือประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนไทยร่วมบริจาคเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ และสิ่งของอาหารอีกมูลค่าประมาณ 120,000 เหรียญสหรัฐฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคน ขณะที่ รัฐบาลไทยได้บริจาคเงิน 1,000,000 บาท
“บุษยา อุ้ยเจริญ” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 5 ตุลาคม รายงานว่า นายกรัฐมนตรี และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา แล้ว เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 1 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง มีนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมพิธีการทูตสหรัฐมาต้อนรับ และเดินทางเข้าที่พัก
จากนั้น นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับคณะทำงาน ก่อนหารือกับนักธุรกิจและนักลงทุนไทยในสหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมาครั้งนี้ มีนักธุรกิจไทยร่วมคณะมา 25 คน จาก 5 ภาคธุรกิจ คือ ด้านการเกษตร อาหาร การแปรรูป /การเงินการธนาคาร /อสังหาริมทรัพย์ /ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนยานยนต์ นายกรัฐนตรีจึงหารือเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนพบปะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันพรุ่งนี้ (2 ต.ค.) เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการการการลงทุน รวมถึง โอกาสในการเพิ่มมูลค้าระหว่างกันในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้แทนภาคเอกกชนจาก SCG CP ปตท. และ บ้านปู ได้บรรยายสรุปสถานการณ์การลงทุนในสหรัฐฯ และแผนการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ให้นายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีพิจารณาประกอบการหารือกับสหรัฐฯ
ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนไทยได้รวบรวมเงินช่วยเหลือสหรัฐฯ ที่ประสบภัยพายุเฮอริเคน เป็นเงินประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ และสิ่งของอาหารอีกมูลค่าประมาณ 120,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเงิน 1,000,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นไปใน 2 รูปแบบ โดยเริ่มจากการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศแบบ 2 ต่อ 2 หรือ 4 EYE ก่อน จากนั้น จึงเป็นการหารือแบบเต็มคณะ ซึ่งจะมีเนื้อหาครอบคลุม ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ และการส่งเสริมการเป็นพันธมิตรของไทยและสหรัฐฯ ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงเย็นวันที่ 2 ต.ค. นายกรัฐมนตรีจะนำภาคเอกชนของไทย พบปะกับภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในระหว่างงานเลี้ยงอาหารเย็น ที่สภาธุรกิจอาเซียน – สหรัฐฯ และสภาการค้าสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยจะหารือถึงการขยายความร่วมมือกันในทุกด้านและทุกมิติ เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักมูลค่าการค้าการลงทุนของสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้น .- สำนักข่าวไทย