กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – กรมชลฯ เผยสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาจะทำประชาคมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ที่มีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ว่า สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าก่อนหมดฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำกักเก็บรวมทั้ง 4 เขื่อนหลักประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดน้ำหน้าแล้งที่จะมาถึงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายทองเปลว ยังกล่าวถึงกรณีการนำน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีการทำประชาคมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนา ซึ่งมีมติเห็นชอบร่วมกันกำหนดเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2560 เพื่อจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ แต่การที่จะนำน้ำเข้าทุ่งต่าง ๆ ได้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณมาก และไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ทั้งหมด กรมชลประทานจึงแบ่งน้ำส่วนหนึ่งที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าคลองส่งน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อไม่ให้น้ำที่ระบายท้ายเขื่อนไหลลงไปส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด กรมชลประทานจึงทำการรับน้ำเข้าทุ่งเฉพาะตามความจำเป็น เพื่อรักษาระบบนิเวศ และโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เท่านั้น
ส่วนทุ่งอื่น ๆ นั้น จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนจะลดลงกลางเดือนตุลาคมนี้ กรมชลประทานจึงคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำค้างทุ่งที่จะไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดลงหลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วัน ประกอบกับระยะเวลารับน้ำเข้าทุ่งที่เก็บเกี่ยวแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน กรมชลประทาน จึงกำหนดให้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทานหากมีน้ำหลากลงมาตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2560 เป็นต้นไป หากไม่มีน้ำหลากเกิดขึ้นก็ขอให้อยู่ในดุลพินิจของกลุ่มเกษตรกรแต่ละพื้นที่ว่าจะให้นำน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ของตนหรือไม่ ซึ่งกรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำประชาคมแต่ละพื้นที่ผลจากการจัดทำประชาคมออกมาเป็นอย่างไร กรมชลประทานจะดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป.-สำนักข่าวไทย