สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 17 ก.ย. “หมอปิยะสกล” ลงนามประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรงบบัตรทอง ปี 2561 เดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคนต่อเนื่อง เน้นบริหารงบประมาณเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง “หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ ตามที่บอร์ด สปสช.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนนำเสนอ หลังจากที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 171,373.67 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณดังนี้
1//.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 156,019.62 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากร 48 ล้านคน โดยเป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนภาครัฐ จำนวน 111,179.08 ล้านบาท
2//.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,218.24 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ 296,900 ราย
3.//บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,165.60 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วย 52,976 ราย
4//.บริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 1,019.20 ล้านบาท ดูแลผู้ป่วย 2,907,200 ราย
5.//ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท สำหรับหน่วยบริการ 175 แห่งในพื้นที่
6//.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,159.20 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมาย 193,200 ราย
และ 7//.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกทั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯมหานครเพิ่มเติมจำนวน 652,173 ครั้ง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนโดยพัฒนามาจากกรอบ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545, ผลรับฟังความคิดเห็นฯ ตามมาตรา 18 (3) ปี 2560, คำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) อนุมัติงบปี 2561 การจัดหายา และข้อเสนอปฎิรูประบบสาธารณสุข, ผลการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบต่างๆ, แผนยุทธศาสตร์บอร์ด สปสช. และอนุกรรมการฯ และแผนแม่บทบูรณาการการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้ยังดำเนินการตามแนวคิดพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านความเป็นธรรมตามจากความจำเป็นการเข้าถึงสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ ประสิทธิผลและคุณภาพของผลงานบริการสาธารณสุข การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และประสิทธิภาพการบริการเพื่อบริการสาธารณสุข
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2561 ยังได้ปรับปรุงการบริหารกองทุนฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาอุปสรรค ได้แก่ 1) การปรับปรุงแนวทางการจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ โดยในปี 2561 สปสช.จะจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ตามแผนและวงเงินการจัดหาฯ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนวงเงินประมาณ 11,252.71 ล้านบาท เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนให้กับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย กรณีหน่วยบริการใดที่ไม่อยู่ในเครือข่าย สปสช.จะจ่ายชดเชยเป็นเงินตามอัตราที่ สปสช.กำหนด
2) ระบุช่วงเวลาข้อมูลที่เป็นตัวแทนการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อให้จ่ายเงินกองทุนให้กับหน่วยบริการได้ภายในปีงบประมาณ 3) บูรณาการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่อยู่ในรายการต่างๆ 4) เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และบริการตรวจคัดกรอง และตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มอายุ 50-70 ปี
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากที่ประชุมยังมีมติในส่วนรายการบริการที่มีการจ่ายแบบระบบปลายเปิด ได้แก่ รายการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เฉพาะประเภทบริการกรณีเฉพาะและบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และรายการค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ให้ สปสช.ติดตามกำกับและควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงาน และหากมีผลการบริการมากกว่าเป้าหมายหรืองบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ 2561 ไม่เพียงพอ ภายหลังจากปรับประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ให้ สปสช.รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอของบเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป.-สำนักข่าวไทย