กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – กรมเชื้อเพลิงฯ เยือน UAE และเตรียมไปจีน ญี่ปุ่น เดินสายเชิญชวนร่วมประมลูแหล่งเอราวัณ-บงกช หวังร่วมยื่นทีโออาร์แข่งกับ ปตท.สผ.-เชฟรอน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงฯ ต้องการเห็นการเสนอแข่งขันประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุปี 2565-2566 แหล่งเอราวัณ-บงกช เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อประเทศ ล่าสุดเดินทางไปสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตและเตรียมจะไปจีนและญี่ปุ่น เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมประมูล เช่น CNOOC ( China National Offshore Oil Corporation) และกลุ่มบริษัทมิตซุย ซึ่งมีบริษัท โมเอโกะ ลงทุนในไทยอยู่แล้ว โดยขณะนี้ร่างการกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขการเปิดประมูล (ทีโออาร์ ) แม้จะยังร่างไม่เสร็จ แต่ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย Mubadala Petroleum (MP) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน Mubadala Investment Company แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งจะเป็นเรื่องดีจากที่คาดว่ารายเก่า คือ เชฟรอนฯ และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จะเข้าประมูล
วานนี้ (14 ก.ย.) นายวีระศักดิ์ และ ร.ท.โกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี ร่วมกันเข้าเยี่ยมคารวะ H.E. Suhail Mohamed Faraj Al Mazrouei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต และประธาน Mubadala Investment Company เพื่อพบปะหารือประเด็นด้านพลังงานและความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศด้านการลงทุนในกิจการปิโตรเลียม โดยเฉพาะการเข้ายื่นประมูลในแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ
“ทางสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยเห็นว่าไทยอยู่ในพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะสนใจลงทุนด้านปิโตรเลียมแล้วยังสนใจลงทุนด้านอื่น ๆ อีกด้วย” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างทีโออาร์การเปิดประมูลจะเป็นแบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ร่างเกือบจะเสร็จสิ้นแล้วและจะเสนอต่อ ครม.เห็นชอบ ซึ่งขณะนี้ยังคาดว่าจะเปิดให้ประมูลได้ช้าสุดเดือนตุลาคมนี้ และคัดเลือกเอกชนเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2561 โดยร่างทีตามหลักเกณฑ์พีเอสซีจะกำหนดคำนวณจากรายได้ที่พบปิโตรเลียม แบ่งเป็นค่าภาคหลวงร้อยละ 10 กำหนดการหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 เหลืออีกร้อยละ 40 จะเป็นการแบ่งครึ่ง หรือร้อยละ 50 ทั้งรายได้และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า PROFIT SHARING โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถเสนอตัวเลข เพื่อแข่งขันได้ ขณะเดียวกันทีโออาร์จะกำหนดให้เอกชนเสนอเรื่องการวางแผนผลิตให้ต่อเนื่องในอัตราที่เหมาะสมและราคาก๊าซฯ ที่จำหน่ายจะต้องไม่สูงกว่าเดิมมากนัก .-สำนักข่าวไทย