พรรคประชาธิปัตย์ 9 มี.ค. – “ชาญชัย” จี้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดี “โรดโชว์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ม.103/7 กฎหมาย ป.ป.ช. ปี 54 เป็นหลักฐาน ต้องประกาศราคากลาง
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศ ไทยแลนด์ 2020 ตนเห็นว่าทางคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยราคากลาง โดยที่ศาลไม่มีการพูดถึงมาตรา 103/7 ของพระบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ที่ระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งมาตรานี้ทำให้นักการเมืองและข้าราชการเกรงกลัว เพราะมีความสำคัญและเคยถูกใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนเป็นที่มาของการถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาแล้ว
นายชาญชัย กล่าวว่า กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ระบุชัดในวรรคที่สอง เพื่อเป็นการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งของข้าราชการที่มีอำนาจในการใช้งบฯ จัดซื้อจัดจ้าง และผู้ประมูลงานก่อสร้าง หรืองานอื่นของรัฐ โดยต้องสั่งจ่ายเงินเป็นเช็ค หรือโอนผ่านสถาบันการเงิน พร้อมระบุชื่อผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน โดยห้ามเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพื่อป้องกันและตรวจสอบการทุจริต ฮั้วประมูลงาน หรือการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย
นอกจากนี้มาตรา 103/7 วรรคสี่ ยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่จะจัดซื้อจัดจ้างต้องโชว์ราคากลางและวิธีการคำนวณภายใน 6 เดือน หรือ 180 วัน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ 0028/0093 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2554 แจ้งเพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบว่า กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 มาตรา 103/7 และ 103/8 มีผลบังคับใช้แล้ว การเปิดประมูลงานของรัฐเพื่อใช้งบประมาณแผ่นดิน ต้องมีการโชว์ราคากลางและวิธีการคำนวนให้ประชาชนรับทราบภายใน 180 วัน ตามกฎหมายกำหนด แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0505/ว 265 วันที่ 16 ธ.ค. 2554 แจ้งกลับมาว่าคณะรัฐมนตรีไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยอ้างว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
ต่อมา ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งกลับถึงสำนักงานเลขาธิการนายกฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2555 เรื่องการทบทวนมติ ครม. โดยย้ำว่ากฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ และมีผลบังคับใช้กับทุกหน่วยงานของรัฐแล้ว จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะถือว่าจงใจทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.
นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามว่าจ้างบริษัทเอกชนสองแห่งใช้งบกลางในการจัดโรดโชว์เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2556 โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2554 มาตรา103/7 แต่กลับประกาศข้อมูลภายหลังจากที่ทำสัญญาว่าจ้างงานบริษัทเอกชนไปแล้ว ก่อนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยุคนั้น เพียงวันเดียว คือ วันที่ 26 พ.ย. 2556 จึงขอให้ติดตามตอนต่อไปว่าทำไมแม้แต่ทหารที่ปฏิวัติยึดอำนาจมายังกลัวกฎหมายดีๆ มาตรานี้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง แต่กลับสั่งยกเลิกการบังคับใช้มาตรานี้ออกจากกฎหมาย ป.ป.ช. ปัจจุบัน .-314-สำนักข่าวไทย