ทำเนียบฯ 9 ส.ค.- กนช. มีมติให้กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ บูรณาการอย่างยั่งยืน รวดเร็วทันสถานการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำท่วม
นายวรศาสตร์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติให้กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีเอกภาพ มีการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และเป็นไปอย่างรวดเร็ว
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำ ต้องประสานงานหลายหน่วยงาน ดังนั้น การให้กรมทรัพยากรน้ำมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้สามารถรับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ได้โดยตรง เพื่อให้เกิดการประสานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะไม่มีอุปสรรค เพราะทางกรมมีโครงสร้างการทำงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว ส่วนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือไม่ จะต้องรอกระบวนการปรับเปลี่ยนตามกฎหมายที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 มาดำเนินการและคงใช้เวลาไม่นาน
“นายกรัฐมนตรีมองว่า ประสิทธิภาพยังไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉิน ภาวะน้ำท่วม อีกหน่อยก็จะมีภาวะภัยแล้ง ท่านอยากให้การแก้ปัญหาดังกล่าว เบ็ดเสร็จรวดเร็ว จึงมีนโยบายให้กรมทรัพยากรน้ำมาขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าว
นายวรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ ร้อยละ 43 และจากการคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า เดือนสิงหาคม-กันยายน นี้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ หรือผ่านภาคใต้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น ทั้งนี้ ต้องขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและรับฟังคำเตือนจากหน่วยงานราชการต่อไป
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วม ในทั้ง 4 ภาค รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครและการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงแผนป้องกันอุทกภัยเฉพาะพื้นที่ ให้แก้ไขปัญหาไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-50 ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2560-2562) พร้อมทั้งเร่งจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จ โดยให้ทุกหน่วย ส่งข้อมูลให้ กนช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งเดือน นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่จังหวัดนครราชสีมา จะมีการหารือถึงแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต.-สำนักข่าวไทย