รร.พลาซ่าแอทธินี 12 ก.ค. – รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจสั่งคลังศึกษาแหล่งทุน AIIB บางส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยื่นข้อเสนอต้องเงื่อนไขจูงใจนอกจากดอกเบี้ยต่ำ ย้ำต่างชาติเริ่มสนใจลงทุนอีอีซี หลายเวทีต่างชาติเริ่มไหลมาไทย ยืนยันคุมหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 60 ของจีดีพีใน 5 ปี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจจีน Boao Forum for Asia หรือกลุ่มโบ๋อ่าว ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน เอกชน จัดเวทีประชุมสัมนาระดับนานาชาติเหมือนกับ The World Economic Forum แต่ครั้งนี้ย้ายเวทีมาจัดที่ประเทศไทย ขณะที่ Nikkei Forum เตรียมจัดเวทีวันศุกร์นี้ด้วยเช่นกัน นับว่าต่างชาติเริ่มให้ความสำคัญต่อการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (อีอีซี) เพราะรัฐบาลเริ่มเดินหน้าหลายโครงการ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่เชื่อมต่ออีอีซี การหารือวันนี้นายจิน ลี่ฉวิน (Jin LiGun) ประธานธนาคารเพื่อการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิกเหมือนกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก ยื่นข้อเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับไทยรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการของไทย เพื่อเชื่อมต่อนโยบาย One Belt One Road ของจีน
นายสมคิด กล่าวว่า ไทยยื่นข้อเสนอกับ AIIB ว่า นอกจากเงื่อนไขดอกเบี้ยต่ำและระยะเวลาการชำระหนี้คืนดีที่สุดแล้ว ต้องมีแรงจูงใจด้านอื่นเพิ่ม เช่น รวมพัฒนาระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน-สปป.ลาว , จีน-ไทย , จีน-มาเลเซีย เพื่อเชื่อมโยงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาแหล่งทุนจาก AIIB อีกด้านหนึ่ง เพราะการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยใน 5 ปีข้างหน้า ต้องพึ่งพาเงินทุนจากหลายแหล่ง ทั้งเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) งบประมาณรัฐบาล และเงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ยืนยันรัฐบาลจะควบคุมเพดานหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อย 60 ของจีดีพี เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง หวังกระจายความเสี่ยงด้านต่าง ๆ
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน การหารือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขบางประการ เนื่องจากวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีของ บสย.ทำได้เพียง 20,000 ล้านบาท ยังเหลือ 80,000 ล้านบาท จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง บสย.และกระทรวงการคลังเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันให้สูงกว่าร้อยละ 23 หวังดึงแบงก์ร่วมปล่อยสินเชื่อมากขึ้นได้หรือไม่ โดยมีธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินเป็นแม่งานหลักปล่อยสินเชื่อจะทำให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินและปล่อยสินเชื่อได้ครบทั้งหมด 100,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังประสานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ธนาคารต่าง ๆ และกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งรัดพัฒนาบุคลากรสามารถให้ความรู้ฝึกสอนการทำธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีในการทำตลาดออนไลน์ รองรับการทำธุรกิจสมัยใหม่ นอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้วยังต้องนำบุคลากรออกไปให้ความรู้เพิ่มกับเอสเอ็มอีด้วย รวมทั้งประสานสมาคมธนาคารไทยและเอสเอ็มอีแบงก์ เพิ่มความรู้ เสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอีเข้าใจการบริหารความเสี่ยงและการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น หวังลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน. – สำนักข่าวไทย