รร.เซ็นจูรี่ พาร์ค 14 มิ.ย.-องค์กรสื่อร่วมมือปกป้องสิทธิเด็ก ไม่นำเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก เพิ่มบทบาทการนำเสนอข่าวที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กมากขึ้น
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมเสวนา “บทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเด็ก โดยไม่ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ปี2560 สถาบันอิศราและองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ยังพบว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางส่วน ยังขาดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมของกฏหมายสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวด้านเด็ก ทำให้เห็นข่าวการละเมิดสิทธิเด็กในสื่อต่างๆ พบทั้งละเมิดสิทธิของเด็กโดยตรง ซึ่งผิดกฎหมาย และละเมิดจริยธรรมวิชาชีพสื่อด้วย ขณะที่ประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิเด็กหรือข่าวที่นำเสนอแล้วมีผลให้เด็กได้รับการดูแลที่ดี กลับมีน้อยมาก อนาคตอันใกล้นี้ กำลังจะมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมา ทำหน้าที่ฟ้องร้อง หรือดำเนินการทางกฎหมายกับสื่อมวลชนที่ละเมิดกฎหมาย อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายหรือหน่วยงานราชการไม่ค่อยอยากยุ่งกับสื่อมวลชน
นางเมทินี ชโลธร กล่าวว่า ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า เนื่องจากสื่อมวลชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้อาจควบคุมการนำเสนอข่าวได้ยาก ที่ผ่านมาแม้จะมีการนำเสนอข่าวที่ปิดบังใบหน้าของเด็กทั้งที่เป็นผู้เสียหายหรือเป็นพยานในคดี แต่กลับไปเปิดเผยในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นที่อยู่ โรงเรียนหรือครอบครัวแทน ทำให้เด็กถูกละเมิดสิทธิ์ ไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิต ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง รวมทั้งเกิดภาพจำที่ไม่ดีต่อเด็กไปตลอดชีวิต สื่อมวลชนจึงต้องตระหนักถึงการนำเสนอข่าวที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของเด็กโดยเด็ดขาดในทุกกรณี ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเด็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กต้องร่วมกันกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการนำเสนอเช่นการปิดบังใบหน้าที่มิดชิด และการนำเสนอนอกจากเรื่องของพฤติการณ์แล้ว ควรต้องนำเสนอในมุมที่ให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันต้องมีบทบาทในการนำเสนอหรือรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลและคุ้มครองสิทธิ ที่สำคัญต้องมีการนำเสนอข่าวด้านดี หรือเด็กที่ทำความดี เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนในการทำความดีมากกว่าที่จะนำเสนอข่าวด้านลบของเด็กเท่านั้น
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำเสนอสู่สังคม เพราะปัจจุบันมีข่าวลวง ข่าวหลอก เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียมากมายซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง เด็กมักหลงเชื่อและลอกเลียนแบบ จนส่งผลกระทบกับชีวิตของเด็กโดยตรง สื่อต้องมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดประโยชน์ด้านดี รวมถึงภาครัฐออกนโยบายต่างๆที่จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตของเด็กดีขึ้นทุกด้าน.-สำนักข่าวไทย