กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ลงพื้นที่เร่งฟื้น “ส้มบางมด-ลิ้นจี่บางขุนเทียน” ขึ้นทะเบียนสินค้า GI กรุงเทพฯ ตั้งเป้าผลักดันอีก 7 จังหวัดภายในปีนี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงพื้นที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการยื่นคำขอสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ภายใต้โครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปี 2560 ปัจจุบันมี 8 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอ GI ได้แก่ กรุงเทพฯ สระแก้ว สิงห์บุรี สมุทรสาคร สตูล กาญจนบุรี ระนอง และกระบี่ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่กรุงเทพมหานคร โดยวิสาหกิจชุมชนจอมทองพัฒนาได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า “ส้มบางมด”และ“ลิ้นจี่บางขุนเทียน” ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ส้มบางมดเป็นส้มเขียวหวานมีทรงผลกลมมน หรือแป้นเล็กน้อย ผิวผลเรียบ เปลือกบาง เนื้อส้มภายในเป็นสีส้มอมทอง ฉ่ำน้ำ ซังนิ่ม กลีบแยกออกจากกันง่าย เมื่อแกะออกมาแล้วกลิ่นจะติดจมูก มีรสชาติอร่อยหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย จากประวัติพบว่าส้มบางมดนำมาปลูกในพื้นที่ตำบลบางมด ปัจจุบันคือ แขวงบางมดในเขตทุ่งครุและเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2468 โดยนายเสม และมีการปลูกทั่วไปในพื้นที่จนเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงในชื่อ “ส้มบางมด” ต่อมาปี 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้สวนส้มบางมดล่มจำนวนมาก และปี 2533 มีน้ำทะเลหนุนเข้ามาประกอบกับเกิดโรคระบาด รวมถึงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้นส้มบางมดยืนต้นแห้งตาย จนกระทั่งปี 2546 สำนักเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสวนส้มบางมด (Chom Thong Model) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และได้เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เกษตรกรสนใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปลูกพืชที่มีชื่อเสียงมายาวนานอย่างส้มบางมด และส่งเสริมให้สวนส้มบางมดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกใน 8 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม
นอกจากนี้ ลิ้นจี่บางขุนทียนถูกนำมาปลูกตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามบันทึกของบาทหลวงปาเลอกัวร์ เมื่อ พ.ศ. 2397 บันทึกไว้ว่า “มีการปลูกลิ้นจี่ในพระนครอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะที่ตำบลโพงพาง ตำบลบางขุนเทียน และตำบลบางค้อ” ในอดีตคลองบางขุนเทียน ซึ่งแยกจากคลองด่านและคลองสนามชัยที่บรรจบกัน คลองบางขุนเทียนนี้จะโค้งและมีคุ้งน้ำอยู่เลยเข้าไปจากวัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนกลางและวัดบางขุนเทียนใน สองฝั่งของคุ้งน้ำจะเต็มไปด้วยสวนลิ้นจี่ รวมถึงคลองบางประทุน และริมสองฝั่งคลองสายต่าง ๆ ในพื้นที่เขตจอมทองและเขตราษฎร์บูรณะ ปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองหลวงยังพบสวนลิ้นจี่บางขุนเทียนโบราณที่มีต้นลิ้นจี่อายุกว่า 100 ปี ในเขตจอมทองด้วย จากการสำรวจและเก็บข้อมูลสายพันธุ์ลิ้นจี่บางขุนเทียนจะพบพันธุ์ทางการค้าที่มีการปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์กะโหลกใบยาว สำหรับพันธุ์พื้นเมืองที่คนทั่วไปมักไม่คุ้นหู เช่น พันธุ์กระโถนท้องพระโรง พันธุ์กะโหลกในเตา พันธุ์กะโหลกไฟไหม้ พันธุ์กะโหลกใบอ้อ พันธุ์สาแหรกทอง พันธุ์บางหญ้าแพรก เป็นต้น เนื่องจากสภาพดินพื้นที่ดังกล่าวเป็น “ดินลักจืดลักเค็ม” ทำให้ได้ผลผลิตลิ้นจี่บางขุนเทียนที่มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม แห้งน้ำ ไม่มีรสฝาดเจือ ที่ปลูกในเขตจอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ ของกรุงเทพมหานคร
นอกจากสภาพดินที่ส่งผลต่อลิ้นจี่บางขุนเทียนให้ได้รสชาติดีแล้ว สภาพอากาศก็ส่งผลต่อลิ้นจี่เช่นกัน เนื่องจากลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ชอบอากาศหนาว ถ้าปีไหนอากาศหนาวจัดก็จะออกผล ด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่ 2558 ลิ้นจี่จึงไม่ออกผลผลิตมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้แต่หวังว่าหากอากาศหนาวติดต่อกันยาวนาน เราคงได้มีโอกาสเห็นลิ้นจี่บางขุนเทียนออกผลมาให้ได้รับประทานครั้งนึงในชีวิตนี้
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าอีก 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว สิงห์บุรี สมุทรสาคร สตูล กาญจนบุรี ระนอง และกระบี่ จะสามารถดำเนินการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI เพื่อยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ภายในปี 2560 และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้วางแผนเจาะตลาดของสินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยจะเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สำหรับผู้บริโภคที่นิยมชมชอบสินค้าที่มีจุดเด่น มีคุณภาพดี มีความแตกต่างและไม่เหมือนใคร ดังนั้น การนำ GI มาใช้ประโยชน์ตรงนี้จะเป็นการตอบโจทย์ในการพัฒนาสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า GI เป็นสินค้าคุณภาพดีที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น และมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มที่จะหาซื้อสินค้าคุณภาพสูง ที่เป็นของดี ของแท้ ของหายากที่มาจากท้องถิ่นนั้นจริง ๆ
ในปีนี้กรมฯ ร่วมกับบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดมุม GI Corner เพื่อขยายช่องทางการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย โดยนำร่อง 2 สาขา คือ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขาเซ็นทรัล ชิดลม และท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ คาดว่าสิ้นปี 2560 จะมี GI Corner ครบ 100 สาขา และผลจากการจัดงาน GI Market 2017 ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาแจ้งวัฒนะ ที่ผ่านมามียอดจำหน่ายสินค้ากว่า 5 ล้านบาท และยอดเจรจาธุรกิจสินค้าแห้วสุพรรณบุรี เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและเกาหลีกว่า 4 ล้านบาท อีกทั้งปีนี้กรมฯ ยังเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ โดยปีนี้จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 16 ราย เป็นปีแรกอีกด้วย โดยถ้าได้รับการตอบรับอย่างดีก็จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ ยืนยันสินค้าใดที่ขึ้นทะเบียน GI สินค้าเหล่านั้นจะมีราคาสูงขึ้นทุกรายการ แต่จะต้องดูแลคุณภาพสินค้าที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วให้ดีต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าความตัองการสินค้าผลไม้ที่ขึ้นทะเบียน GI จะมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจนต้องมีการจองผลไม้ชนิดต่าง ๆ กันแบบล่วงหน้า โดยกรณีส้มบางมดปกติแต่ละปีเมื่อผลผลิตออกช่วงเดือนธันวาคมจนถึงปลายเดือนมกราคมของทุกปี ราคาปกติจะอยู่ที่ 150 บาทต่อกิโลกรัม น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือหากขึ้นตามห้างต่าง ๆ จะมีราคาสูงขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมให้ผู้ปลูกผลไม้ไทยต้องรักษาคุณภาพให้ดีขึ้นและพร้อมที่จะเร่งหาตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ราคาผลไม้ไทยมีราคาสูงและเพียงพอต่อการบริโภคทั้งในช่วงฤดูและหลังฤดูต่อไป.-สำนักข่าวไทย