กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 29 พ.ค.- พม.เตรียมถ่ายโอนศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ให้ท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุป่วยติดเตียง เริ่มดำเนินการกันยายนนี้
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสัง คมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้เข้าเยี่ยม เพื่อหารือข้าราชการ เรื่องการเตรียมการผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับ พม.พร้อมติดตามความคืบหน้าเกี่ยว กับข้อเสนอการปฏิรูปการพัฒนาแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับที่เอื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลผู้สูงอายุ ตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ พม.และกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ชี้แจงถึงผลการดำเนินการที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งเรื่องจ้างงานผู้สูงอายุที่ตั้งเป้าไว้ 3.9 หมื่นตำแหน่ง การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ กว่า 2.7 หมื่นชมรม อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุกว่า 8 หมื่นคน และการออมรวมถึงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เป็นต้น
ส่วนประเด็นข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี เรื่องการกระจายอำนาจการดูแลผู้สูงอายุให้แก่ท้องถิ่นนั้น ส่วนของ พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้เตรียมถ่ายโอน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ หรือ ศพอส. ซึ่งปัจจุบันมี 878 แห่ง สู่ระดับตำบลในลักษณะสถานสง เคราะห์ขนาดเล็ก เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ และจะขยายเพิ่มอีก 400 แห่งในปี 2561 ครบทุกตำบลภายใน 5 ปีข้างหน้า โดย ศพอส.1 แห่งใน 1 ตำบล จะมี care giver หรือคนดูแลผู้สูงอายุ 2 คน โดย 1 คนจะดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้ ตำบลที่จะตั้ง ศพอส.ได้ ต้องผ่านมารตฐานการจัดตั้ง ประกอบด้วย มาตรฐานหลักสูตรอบรมผู้ดูแล มาตรฐานผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องผ่านการฝึกเป็น care giver และมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ ตามที่กำหนด คาดจะเริ่มทยอยถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นได้ประมาณเดือนกันยายนนี้
ด้านนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานสภาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ส่วนของการดำเนินงานของ พม.ตามที่นำเสนอถือว่ามีความพร้อมในการรองรับนโยบายผู้สูงอายุ แต่ยังติดในเรื่องของสัดส่วน care giver ในระดับตำบล ที่มีแห่งละ 2 คน มองว่าควรเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพราะในอนาคต ปี 2564 ไทยจะมีผู้สูงอายุ มาถึง 13.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นคาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 สัดส่วนคนดูแลตามที่กำหนดอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ พม.เป็นตัวกลางเจรจากับกระทรวงมหาดไทย ในการเร่งแก้ไขกฎระเบียบเรื่องการเบิกจ่ายการเงิน ให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินในการดูแลผู้สูงอายุเองได้เลย เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุในในพื้นที่ จะได้สะดวก รวดเร็ว สามารถดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 10.7 ล้านคนได้อย่างเต็มที่ไม่ ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่ายที่ทำให้การดูแลติดขัดตามไปด้วย.-สำนักข่าวไทย