สตูล 20 พ.ค.- ครอบครัวซาไก “ศรีธารโต” ดีใจได้มีบัตรประชาชนไทย ขอบคุณทุกฝ่ายช่วยเหลือ ด้าน นอภ.มะนัง เผยเป็นนโยบายกรมการปกครองเพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน และต้องเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ภายหลังจากนายธีรวัช เหล็บหนู ปลัดอำเภอมะนัง จ.สตูล นายอร่าม ณ นคร เจ้าหน้าที่ทะเบียน ครูจากโรงเรียนบ้านผังปาล์ม 7 และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง เดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ เมื่อเย็นวานนี้ (19 พ.ค.) เพื่อติดตามความเป็นอยู่ของครอบครัวซาไกอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และเส้นทางค่อนข้างลำบากอยู่ห่างจากถนนในหมู่บ้าน 7 กิโลเมตร ซึ่งล่าสุดได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับครอบครัว “ศรีธารโต” อยู่บ้านเลขที่ 345 ม.7 เป็นชนกลุ่มน้อยซาไกอาศัยเป็นหลักแหล่งในพื้นที่นานถึง 10 ปี และยังเหลือลูกอีก 2 คน ที่ยังไม่สามารถออกบัตรประชาชนได้ เนื่องจากอายุยังไม่ครบเกณฑ์ ส่วนสภาพบ้านเรือนพัฒนาปลูกสร้างแบบถาวรขึ้น จากเดิมสร้างแบบง่าย ๆ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย
นายเหน่ง ศรีธารโต อายุ 48 ปี หัวหน้าครอบครัว พร้อมนางสายฝน ศรีมะนัง อายุ 30 ปี ภรรยา เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างเป็นหลักแหล่งมานานถึง 10 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอาชีพรับจ้างกรีดยางและหาของป่ามาขาย เพื่อส่งลูกให้เรียนต่อในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนใกล้ที่พัก ซึ่งได้รับสิทธิ์เรียนฟรี โดยครอบครัวมีทั้งหมด 9 คน และดีใจมากที่ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนครบเกือบทุกคน ขอขอบคุณทุกฝ่ายช่วยเหลือในครั้งนี้ให้ได้รับสิทธิเหมือนชาวไทยทั่วไป ล่าสุดลูกสาว อายุ 11 ปี เพิ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชน เหลืออีก 2 คน ต้องรอให้อายุครบตามที่ราชการกำหนด หากครบจะรีบนำไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเช่นกัน เพื่อใช้สิทธิ์เหมือนคนไทยในการรักษาพยาบาล และรับสิทธิที่รัฐบาลมอบให้ในฐานะราษฎรเต็มขั้น
ด้านนายวิสูตร พฤกษสุวรรณ นายอำเภอมะนัง ระบุว่า การทำบัตรประชาชนให้กับซาไก หรือ มันนิ ในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นนโยบายของกรมการปกครอง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้ชนกลุ่มน้อยได้รับบัตรเพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐมีให้อย่างเท่าเทียม โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และมีผู้นำในพื้นที่รับรอง 3-4 คน จะได้รับการขึ้นทะเบียนในการทำบัตรประชาชน ขณะนี้อำเภอมะนังได้ทำบัตรประชาชนให้แล้ว 3 ครอบครัว 18 คน ในพื้นที่หมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 9 ต.ปาล์มพัฒนา ยังคงเหลืออีก 4 คนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ สำหรับซาไกในเขตรอยต่อเทือกเขาบรรทัด ตรัง พัทลุง และสตูล ยังพบมีการอพยพเคลื่อนย้ายอีกจำนวนมากไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต ในป่าแห่งนี้ที่ยังใช้ชีวิตเดิม ๆ ยังไม่พร้อมจะอยู่ประจำถิ่น และไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการทำบัตรประจำตัวประชาชน
ทั้งนี้ ชนเผ่าซาไกเป็นกลุ่มชาติพันธ์เงาะป่า อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยตลอดจนแหลมมลายู ผู้คนทั่วไปเรียกชนกลุ่มนี้กันหลายชื่อ เช่น ซาแก เซมัง (samang) ซินนอย (senoi) คะนัง โอรัง อัสลี ออกแก นิกริโต และเงาะ ส่วนพวกซาไกเรียกตนเองว่า “ก็อย” “มันนิ” “คะนัง”.-สำนักข่าวไทย