ศรีสะเกษ 4 พ.ย.-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าแผนบูรณาการการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่จำนวนอย่างน้อย 70,000 ราย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นให้ศพก. เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งในปี 2560 ได้เน้นย้ำให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรจะต้องร่วมคิด ร่วมทำ รวมกลุ่มบริหารจัดการเพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตรกรรมยั่งยืน พร้อมให้ความสำคัญในด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลศพก. เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละชุมชน โดยมีการดำเนินการ ศพก. ในทั่วประเทศ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ และได้มีการจัดตั้งเครือข่ายของ ศพก. ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ เพื่อให้เป็นเครือข่ายภาคประชาชนในการปฏิรูปภาคการเกษตร และมีแผนการดำเนินงานโดยจัดให้มีการประชุมเครือข่าย ศพก. ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศให้มีการประสานเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างเครือข่าย เพื่อให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. กับภาครัฐได้รวดเร็ว ทันเวลา และทั่วถึง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายให้จัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้จริง จำนวนอย่างน้อย 70,000 ราย ซึ่งจะเป็นเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการและยังไม่เคยดำเนินกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่มาก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนปัจจัยทางการผลิต ทั้งด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ สามารถพึ่งตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการเดินตามรอยเท้าพ่อ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร สมาชิก ศพก. และเครื่อข่าย โดยจะดำเนินโครงการ 9,999 ตามรอยเท้าพ่อ ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกและเครือข่าย ศพก. เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มคนนำหลักการทฤษฎีและแนวทางการทรงงานไปปฏิบัติจริง ซึ่งจะใช้ ศพก. เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันแบบประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ศพก. นอกเหนือจากกิจกรรมหลักที่จะช่วยรากฐานให้เกษตรกรในชุมชนเข้มแข็งอีกด้วย-สำนักข่าวไทย