กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มั่นใจสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่มั่นคงให้เกษตรกร รวมทั้งกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) โดยเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และให้ชุมชนมีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน นอกจากนี้ จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นและสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยระยะยาวด้วย เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวจะพัฒนาพื้นที่ของเกษตรกรตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศตามทฤษฎีใหม่ 4,009 ตำบล ตำบลละ 16 ราย รวม 64,144 ราย ๆ ละ 3 ไร่ รวมเนื้อที่ 192,432 ไร่ งบประมาณ 9,805,707,480 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564 เบื้องต้นจะเปิดรับสมัครเกษตรกรที่สนใจทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่ จากนั้นจะฝึกอบรมภาคทฤษฎีเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและฝึกปฏิบัติการปรับพื้นที่การเกษตรตามทฤษฎีใหม่ จากนั้นจะสนับสนุนการปรับปรุงแปลงเกษตรทั้งการขุดสระเก็บน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน ปลูกพืช เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ เกษตรกรดำเนินการปรับปรุงคุณภาพดิน ปลูกพืช เลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์ การห่มดิน การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยจะส่งเสริมการตลาดด้วยการนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาแปรรูป บรรจุหีบห่อ สร้างแบรนด์จำหน่ายร่วมกัน สร้างตลาดสีเขียวประจำหมู่บ้าน เพิ่มช่องทางการขายกับห้างสรรพสินค้า ยกระดับเป็นอุตสาหกรรมในชุมชน ตลอดจนการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ และคัดเลือกแปลงตัวอย่างจังหวัดละ 1 แปลงเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น รวม 192,432 ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 256 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,243 ไร่ เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพ ทำเกษตรกรรมยั่งยืน 64,144 คน มีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ 64,144 แห่ง และเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ 32,072 ราย
“ขณะนี้เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลและแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน จนกว่าโครงการจะเสร็จ” นายเฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย