รัฐสภา 17 พ.ค.- รองประธาน สปท.แจงเสนอให้ใช้ม.44 ออกกฎหมายปฏิรูป 36 ฉบับ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศไม่สะดุด ยันไม่ใช้ข้อเสนอใหม่
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเสนอของประธาน สปท.ที่เสนอให้ใช้ ม.44 ออกกฎหมายปฏิรูป 36 ฉบับ จึงขอทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปนับแต่สปท.เข้ามาสานงานการปฏิรูปต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ตั้งแต่เดือนตุลาคม2558 จึงไม่ใช่มาเสนอในช่วงโค้งสุดท้ายของการทำงานอย่างที่เข้าใจกัน
รองประธาน สปท. กล่าวว่า สปท.เสนอการบริหารจัดการการปฏิรูปเป็น 2 แนวทางสำหรับข้อเสนอปฏิรูปและกฎหมายปฏิรูปได้แก่ 1.การใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี 2.การใช้กฎหมายเพื่อการปฏิรูปโดยตราเป็นพระราชบัญญัติผ่านสนช.หรือใช้มาตรา44 ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะใช้แนวทางใดซึ่งที่ผ่านมาก็ถือปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ควรเข้าใจว่าในการปฏิรูปประเทศต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างขึ้นกับความยากง่ายเพราะประเทศมีปัญหานานัปการที่สะสมหมักหมมมานาน จึงต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รอบคอบ และเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิรูปใน11 ด้านคืบหน้ามากที่สุด พร้อมวางรากฐานใหม่ให้กับประเทศเพื่อส่งมอบประเทศให้กับรัฐบาลหน้าต่อไป เมื่อการปฏิรูปประเทศเข้าสู่โรดแมประยะที่สอง นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานป.ย.ป.มีเป้าหมายให้ดำเนินการปฏิรูป ๒๗ วาระสำคัญและเร่งด่วน ๔๒ เรื่อง ๕ ด้านได้แก่ ด้านปฏิรูปกลไกภาครัฐ ด้านปฏิรูปเครื่องมือพัฒนาฐานราก ด้านปฏิรูปเศรษฐกิจอนาคต ด้านปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์และด้านปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิรูป 36 ฉบับต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
รองประธาน สปท. กล่าวว่า ประธาน สปท.เห็นว่าภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัดและงานของ สนช.ที่มากขึ้นในการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอีก 40-50 ฉบับจึงเสนอให้ใช้แนวทางมาตรา44 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวทางเดียว เพราะยังคงใช้แนวทางผ่านสภานิติบัญญัติด้วย และขึ้นกับนายกรัฐมนตรีจะเห็นควร แต่ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างสนช.และสปท.(วิป2ฝ่าย) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่10 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการของทั้ง 2 สภาไปร่วมกันศึกษากฎหมายปฏิรูป 36 ฉบับล่วงหน้าโดยให้คำนึงถึงการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลดีผลเสียของกฎหมายแต่ละฉบับตามมาตรา77ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันด้วย.-สำนักข่าวไทย