กรุงเทพฯ 4 ส.ค. – คกก.ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ผนึกพลัง สธ.-อว.-ดีอีเอส-กทม. และ กสทช.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เน้นพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. ใช้ระบบดิจิทัลเฮลท์เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ประชาชนต้องเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และบริการสาธารณสุข
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขพร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่าได้มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องขับเคลื่อนและนำไปต่อยอดบูรณาการกับหลายหน่วยงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร การพัฒนาระบบดิจิทัลเฮลท์และการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ การปรับกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นให้ประชาชนเข้าถึงยา วัคซีนและบริการสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า อว.ได้สนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 โดยนำเเผนงานและกิจกรรมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 มาขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ (TCELS) เป็นหน่วยงานหลักและสนับสนุนงบประมาณ ทำให้เกิดการผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยกระทรวง อว. ในฐานะหน่วยวิชาการ พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิชาการ การพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล Telemedicine การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมการทำงานหน่วยบริการปฐมภูมิ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนรับมือโควิด-19 ทำให้เห็นจากความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีอสม.เป็นหน่วยปฐมภูมิ เข้ามาบริหารจัดการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งการพัฒนาแนวทางการบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ เป็นความคาดหวังของทุกฝ่าย โดยมีข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ เช่น การพัฒนากลุ่มอาสาสมัครในกรุงเทพมหานคร การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาช่วยเพิ่มศักยภาพการบริการให้กับประชาชน การนำนวัตกรรม เช่น ระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน Smart อสม. มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมร่วมมือบูรณาการกับทุกหน่วยงาน
ด้าน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ยอมรับว่าระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิเป็นจุดอ่อนใน กทม. คนเลือกไปใช้บริการในโรงพยาบาลหลัก การแก้ไขปัญหาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิจึงมีความสำคัญ ทาง กทม. จึงได้เริ่มทำแซนบ็อกซ์ 2 แห่ง ที่ ดุสิต และราชพิพัฒน์ โดยใช้โรงพยาบาลหลักเป็นแม่ข่ายดูแลผู้ป่วยหนัก และมีเครือข่ายศูนย์สาธารณสุขเข้าไปดูแลเส้นเลือดฝอยในชุมชน ให้ประชาชนเข้าถึงได้ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะแล้วเสร็จ และยังมีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการด้านสาธารณสุขเพื่อทำให้การขับเคลื่อนทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน -สำนักข่าวไทย