นนทบุรี 13 เม.ย. – พาณิชย์มั่นใจผลประกาศอันดับ PWL ของไทยปลายเดือนเมษายนนี้น่าจะดีขึ้น เป็นผลจากการทำงานแบบบูรณาการ หากคงอันดับเดิมสหรัฐต้องมีคำตอบให้ไทยและเชื่อว่าผลประกาศไม่เกี่ยวข้องกับแผนลดขาดดุลของสหรัฐ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างติดตามผลการจัดอันดับสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐประจำปี 2560 โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ (USTR) ปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ PWL มาเป็นระยะเวลา 9 ปีแล้ว ซึ่งจะประกาศปลายเดือนเมษายนนี้ โดยคาดหวังว่าไทยน่าจะหลุดมาอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยมีการปราบปรามป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเป็นที่น่าพอใจของสหรัฐ แต่หากผลที่ออกมาอยู่ในอันดับคงเดิมจะต้องได้รับคำชี้แจงจากสหรัฐถึงสาเหตุและเหตุผลการคงอันดับของไทยไว้
ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะมีการทบทวนกลุ่มประเทศที่ได้ดุลการค้าค่อนข้างมากมาเป็นพื้นฐานการประกาศทบทวน PWL ของไทย และไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่การประกาศ PWL ของสหรัฐในการกำหนดแนวทางและระยะเวลาที่ชัดเจน ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศทบทวนมาตรการขาดดุลทางการค้ากับหลายประเทศแต่อย่างใด โดยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบต่าง ๆ ของไทย ความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งปราบปรามและป้องกัน รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้คนไทยตระหนักถึงการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาและไม่ละเมิด
อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขการทำลายของกลางละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาคดีถึงที่สุดแล้วกว่า 3 ล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 300 ตัน มูลค่ารวม 1,756 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นที่น่าพอใจ แต่ยอมรับว่าปัจจุบันมีรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ก้าวหน้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเข้าไปป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะเข้าไปชี้เป้า เพื่อเข้าจับกุมปัญหาการละเมิด แม้ว่าไทยจะมีหน่วยงานเฝ้าติดตามโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมีข้อกฎหมายที่จะเข้าไปยับยั้งหรือบล็อคเว็บไซต์ ซึ่งจะต้องได้รับแจ้งดำเนินการฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่แจ้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีเจ้าทุกข์และอาจจะถูกกล่าวหาว่ากลั่นแกล้ง.-สำนักข่าวไทย