วช. 2 ส.ค.63 – สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ขนผลงานวิจัยกว่า 300 ผลงานจัดแสดง พร้อมโชว์งานวิจัยฝีมือคนไทยที่ใช้ในการรักษา และป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้สำเร็จ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายการวิจัย จัดงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563 ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดแห่งการวิจัยไทย และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศนุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย
โดยภายในงานตลอด 5 วัน มีผลงานวิจัยกว่า 300 ผลงาน นำมาจัดแสดงถ่ายทอดความรู้ความก้าวหน้างานวิจัยฝีมือคนไทย ที่เป็นส่วนสำคัญของกลไกในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นเวทีที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ให้พบปะแลกเปลี่ยนนำงานวิจัยต่อยอดเป็นประโยชน์ในวงกว้าง หรือพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยงานการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของงานวิจัยชัดเจนมากขึ้น ซึ่งปีนี้ได้นำผลงานวิจัยเหล่านี้นำเสนอเป็นไฮไลท์สำคัญ ตั้งแต่การพัฒนาชุดตรวจวินิฉัยโควิด-19 ที่ได้ผลแม่นยำในระยะไม่นาน ให้สามารถสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อจำนวนมากในระยะเวลาสั้นได้ ช่วยคัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันผลิตได้กว่า 100,000 ชุดต่อเดือน เพียงพอกับการใช้งานโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ขณะที่ชุดป้องกันการติดเชื้อของบุคคลากรทางการแพทย์ ได้พัฒนาชุด PPE ที่มีคุณสมบัติพิเศษเคลือบสารสะท้อนน้ำ ทำให้ป้องกันน้ำ หรือการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดันได้ เนื้อเยื่อเส้นใยผลิตจากวัสดุคุณภาพดีมีความเหนียวคงทน สามารถซักนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกกว่า 20 ครั้ง ช่วยลดปัญหาขาดแคลนชุด PPE ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์มีชุดปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยเพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งนำไปพัฒนาเป็นหน้ากากอนามัย มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโรคในระดับสูง
ส่วนในช่วงหลังของสถานการณ์โควิด ก็จะมีงานวิจัยสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น สร้างจุดแข็งให้กับประเทศ ช่วยสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้แม้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าด้านวัคซีนโควิด-19 ของไทย มีการทดลองใน 2 ระยะแรก มีผลที่น่าพอใจในระดับสูง โดยเตรียมจะทดสอบกับมนุษย์ในเดือนตุลาคมนี้ โดยยังมีความร่วมมือวิจัยและถ่ายทอดความรู้ด้านวัคซีนกับต่างประเทศควบคู่ไปด้วยซึ่งล้วนเป็นไปในทิศทางบวก ทำให้เกิดความก้าวหน้า และใกล้เคียงความจริงที่จะเกิดวัคซีนใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564 โดยนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวนว่าราคาวัคซีนโควิด-19 จะอยู่ที่เข็มละ 20 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 620 บาท โดยจะต้องฉีดคนละ 2 เข็ม รวมประมาณ 1,200 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ด้าน ศ.นพ.เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า งานวิจัยช่วยให้เกิดความก้าวหน้าที่ทำให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองได้ โดยพร้อมจะเสนอให้เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้มีความพร้อม เกิดนวัตกรรม เกิดงาน และรายได้ ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืน และมีนวัตกรรมที่มีราคาถูกให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย หุ่นยนต์นินจา สำหรับช่วยบุคคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยทางไกล การวิจัยด้านอาหาร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร พลังงานทดแทน รวมทั้งยังมีนิทรรศการ และเวทีเสวนา ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก
สำหรับผู้สนใจร่วมชมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 สามารถลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้าได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือ ติดตามชมนิทรรศการในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์ www.researchexpo.nrct.go.th และwww.nrct.go.th .-สำนักข่าวไทย