กรุงเทพฯ 20 พ.ค. -วช. จับมือ สอวช. ผลักดันสร้างนักจัย 40 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนภายในปี 70 หารือ ธ.กรุงไทย เตรียมสร้างแอป เหมือนกับ “เป๋าตัง” เติมเงินใช้ประชาชน ใช้สิทธิ์ ฝึกอบรม เติมทักษะฝีมือแรงงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แถลง “ผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564)” ว่า ค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564) ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งสิ้น 208,010 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.33 ของ GDP ของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.74 ยอมรับว่าปัญหา Covid-19 กระทบภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัย แต่การลงทุนส่วนใหญ่ ยังคงเป็นภาคเอกชน 141,706 ล้านบาท ร้อยละ 68 ส่วนภาคอื่น ๆ ได้แก่ รัฐบาล อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร จำนวน 66,304 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 32
เมื่อเทียบการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยกับประเทศต่าง ๆ จากฐานข้อมูล IMD ประเทศที่มีแนวโน้ม GERD/GDP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2558 – 2562 ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง และไทย ยอมรับว่า แม้ไทยจะมีการลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังห่างจากประเทศใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศในอันดับต้น ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน มากถึง 3 – 4 เท่า ดังนั้น ควรเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้น โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ
ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ปี 2563 พบว่า ในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.05 อุตสาหกรรมการผลิต ลดลงร้อยละ 3.06 อุตสาหกรรมการบริการ ลดลงร้อยละ 1.45 และอุตสาหกรรมการค้าส่ง/ค้าปลีก ลดลงร้อยละ 25.43 เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ส่งผลกระทบกับการลงทุนด้านการวิจัยฯ และในปีก่อนหน้าเอกชนบางรายได้ลงทุนเรื่องเครื่องมือ/เครื่องจักรไปแล้วช่วงที่ผ่านมา สำหรับอุตสาหกรรม ที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2563 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มูลค่า 32,545 ล้านบาท รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง มูลค่า 11,862 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่า 11,675 ล้านบาท
สำหรับจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักวิจัย ทั้งสิ้น 168,419 คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1 มีสัดส่วน 25 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน แบ่งเป็นนักวิจัยภาคเอกชน 119,264 คน/ปี และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล, อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) จำนวน 49,155 คน/ปี คิดสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ ร้อยละ 71:29 จึงตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะเพิ่มนักวิจัยเพิ่มเป็น 40 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 2 แสนคนต่อปี และทั้งด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ภาครัฐเห็นความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาจึงใส่เม็ดเงินเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน จึงต้องเริ่งส่งเสริม การวิจัยและนวัตกรรมภายในปี 2570 ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง 2) เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง 3) Social Mobility 4) ผลักดัน 50% ของบริษัทส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รองรับการพัฒนาเขตอีอีซี
สอวช. ยังหารือกับ ธ.กรุงไทย พัฒนาแอปพลิเคชั่น เหมือนกับแอปเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล ผ่านระบบออนไลน์ โดยนำสิทธิ์จากการสมัครเข้าแอปพลิเคชั่นไปใช้บริการจากหน่วยงานต่างๆที่กำหนด เช่น การเติมความรู้ การพัฒนายกระดับคุณภาพ การฝึกอบแรมอาชีพ อาจจะเป็นนชำระค่าบริการคนละครึ่ง หรือมีส่วนลด ตามสัดส่วนแล้วแต่โครงการ เพื่อส่งเสริมประชาชนฝึกอาชีพ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะภาครัฐให้การอุดหนุนค่าใช้จ่าย เตรียมสรุปแนวทั้งหมดในเร็วๆนี้ .-สำนักข่าวไทย