กทม. 22 ต.ค.63 – วช. วิจัยอาหารไทยฮาลาลและอาหารไทยมังสวิรัติสำเร็จรูป ตอบรับไลฟ์สไตล์นักเดินทางผู้นับถือศาสนาอิสลาม และกลุ่มที่นิยมทานมังสาวิรัติ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนากระบวนการผลิตอาหารไทยฮาลาลและอาหารไทยมังสวิรัติสำเร็จรูป สำหรับผู้สูงอายุและผู้นับถือศาสนาอิสลาม โดยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านโครงการวิจัยอาหารไทยมังสวิรัติและอาหารไทยฮาลาลสู่ตลาดโลก
ดร.พิศมัย ศรีชาเยช นักวิจัยฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทย ได้รับประทานอาหารไทยที่มีรสชาติถูกต้อง รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากมีโอกาสรับประทานอาหารไทยที่ต่างประเทศจะทราบว่า มีรสชาติที่ต่างออกไปจากรสชาติเดิมที่ถูกต้อง โดยเน้นอาหารฮาลาลและอาหารมังสวิรัติเพราะได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งสองประเภท
ผลจากงานวิจัยได้พัฒนาอาหารสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคสามารถฉีกซองรับประทานได้ทันที โดยบรรจุอยู่ในถุงรีทอร์ท สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1 ปี โดยยังคงรสชาติเช่นเดิม และสามารถบรรจุในถ้วยหรือถาดพลาสติก แต่จะใช้เวลาในการฆ่าเชื้อนานกว่าการบรรจุในถุงรีทอร์ท ทีมวิจัยได้เลือกพัฒนากระบวนการผลิตอาหารไทย 8 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น อาหารไทยฮาลาล 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงเผ็ดเป็ดย่าง พะแนงเนื้อ ข้าวหมกไก่ และไก่สะเต๊ะ และอาหารไทยมังสวิรัติ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงเขียวหวานหมี่กึง แกงมัสมั่นโปรตีน ผัดไทยมังสวิรัติ และต้มข่าเห็ด
ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ ไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสียในอาหารไทยฮาลาลและอาหารไทยมังสวิรัติ ให้พลังงานอยู่ระหว่าง 200-420 กิโลแคลอรี โดยผัดไทยให้พลังงานสูงสุดที่ 420 กิโลแคลอรี ในขณะที่ไก่สะเต๊ะให้พลังงานน้อยสุดที่ 200 กิโลแคลอรี และอาหารไทยมังสวิรัติยังไม่มีคลอเลสเตอรอล และทั้งอาหารไทยฮาลาลและมังสวิรัติสำเร็จรูปยังมีวิตามินเอ แคลเซียมและเหล็ก โดยพบว่าแกงเผ็ดเป็ดย่างมีปริมาณวิตามินเอ แคลเซียมและเหล็กมากที่สุด