ชี้ผู้ป่วยโอไมครอนมีอัตราเสียชีวิตน้อยกว่าเดลตา 75%

โซล 22 ก.พ. – เกาหลีใต้เผยผลการศึกษาข้อมูลที่ชี้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มป่วยหนักหรือเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาเกือบร้อยละ 75 สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ หรือเคดีซีเอ เผยผลการศึกษากับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดราว 67,200  คนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อนว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีอัตราป่วยรุนแรงร้อยละ 0.38 และมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.18 ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามีอัตราป่วยรุนแรงร้อยละ 1.4 และมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.7 ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบแล้วผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มป่วยหนักหรือเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาเกือบร้อยละ 75 ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 1,073 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 56 เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดหรือฉีดวัคซีนแค่เข็มแรก และมีผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 94 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนเมื่อวันจันทร์เกาหลีใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 99,444 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ทำสถิติทะลุ 100,000 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 2.1 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน ขณะนี้ มีชาวเกาหลีใต้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสกว่าร้อยละ 86 และฉีดวัคซีนเข็มที่สามเกือบร้อยละ 60 จากประชากรทั้งหมด 52 […]

อินเดียมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดทะลุ 500,000 คนแล้ว

นิวเดลี 4 ก.พ. – อินเดียมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทะลุ 500,000 คนในวันนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอินเดียระบุว่าอินเดียมียอดผู้เสียชีวิตในระดับดังกล่าวตั้งแต่เมื่อปีก่อน แต่ถูกกลบเกลื่อนด้วยรายงานที่ไม่ถูกต้องและไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ข้อมูลของทางการอินเดียระบุว่า อินเดีย ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดสูงเป็นอันดับสี่ของโลก มีตัวเลขผู้เสียชีวิตราว 400,000 คนในเดือนกรกฎาคมปีก่อนหลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายของอินเดียเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงมีมากกว่าที่ทางการรายงาน ขณะที่ ผศ. ชินเม ทัมเบ ของสถาบันการจัดการแห่งอินเดียที่เมืองอาห์มาดาบัดในรัฐคุชราต เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า สถาบันฯ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร ‘ไซเอินส์’ (Science) ที่คาดการณ์ว่ามีชาวอินเดียที่เสียชีวิตจากโรคโควิดราว 3 ล้านคนนับถึงช่วงกลางปี 2564 โดยใช้ฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน 3 แหล่ง อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียระบุเมื่อเดือนก่อนว่า ผลวิจัยดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือในการแจ้งเตือนเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด ขณะนี้ อินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่สามของโรคโควิดที่เกิดจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของอินเดียระบุว่าเชื้อดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วทุกชุมชนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินเดียชี้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่มีอาการป่วยไม่รุนแรง อินเดียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 41.9 ล้านคน สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 500,000 คน โดยมีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสราวร้อยละ 75 จากประชากรที่มีสิทธิฉีดวัคซีน […]

ชาวฮ่องกงลงชื่อคัดค้านคำสั่งฆ่าหนูแฮมสเตอร์สกัดโควิด

ฮ่องกง 19 ม.ค. – กลุ่มคนรักสัตว์และกลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์ในฮ่องกงแสดงความไม่พอใจและร่วมกันลงชื่อผ่านระบบออนไลน์กว่า 19,300 คน เพื่อคัดค้านคำสั่งของรัฐบาลฮ่องกงให้ฆ่าหนูแฮมสเตอร์ราว 2,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคโควิด-19 หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์รายงานว่า การคัดค้านดังกล่าวมีขึ้นหลังรัฐบาลฮ่องกงประกาศว่าจะสั่งฆ่าหนูแฮมสเตอร์ราว 2,000 ตัวที่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ รวมถึงสัตว์ขนปุยอีกหลายชนิด เช่น กระต่ายและหนูชินชิลลา (chinchilla) เจ้าหน้าที่ของฮ่องกงยืนยันหนักแน่นที่จะทำตามคำสั่งดังกล่าวเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งในย่านคอสเวย์ เบย์ ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในร้าน 3 คน จนทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง หลังรัฐบาลฮ่องกงประกาศคำสั่งดังกล่าวได้เพียงไม่นาน กลุ่มคนรักสัตว์และกลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์ในฮ่องกงก็ได้เปิดให้ลงชื่อคัดค้านคำสั่งฆ่าหนูแฮมสเตอร์ผ่านระบบออนไลน์ และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็มีผู้ลงชื่อคัดค้านคำสั่งนี้กว่า 19,300 คนแล้ว ขณะที่หญิงฮ่องกงรายหนึ่งเผยว่า ข่าวดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้แก่ลูกสาวสองคนของเธอที่เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์มาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และมองว่าการฆ่าหนูแฮมสเตอร์ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฮ่องกงระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากหนูแฮมสเตอร์สามารถแพร่เชื้อไวรัสให้สัตว์อื่นหรือมนุษย์ได้ คำสั่งของรัฐบาลฮ่องกงมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังพนักงานขายของร้านขายสัตว์เลี้ยงดังกล่าว ซึ่งมี 15 สาขาและมีคลังสินค้าอยู่ในเขตไทโปของฮ่องกง ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาเมื่อวันจันทร์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจของฮ่องกงเผยว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในตัวพนักงานขายคนดังกล่าวเป็นลำดับพันธุกรรมที่ไม่เคยพบมาก่อนในฮ่องกง ทั้งยังระบุว่า พนักงานคนนี้ได้สัมผัสฝูงหนูแฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อโควิดอย่างใกล้ชิดจากการทำงานจนอาจทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายแรกจากการแพร่ระบาดจากหนูแฮมสเตอร์สู่คน.-สำนักข่าวไทย

ผลวิจัยฮ่องกงชี้โอไมครอนแพร่ในหลอดลมเร็วกว่าเดลตา 70 เท่า

ฮ่องกง 16 ธ.ค. – ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในหลอดลมสูงถึง 70 เท่า เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่เพิ่มจำนวนช้าลง 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอดเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่า ผลวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่โดยคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKUMed) ระบุว่า คณะนักวิจัยประสบความสำเร็จในการคัดแยกเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและนำเนื้อเยื่อปอดจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิดมาใช้ในการศึกษาการกลายพันธุ์ครั้งล่าสุด ผลการเปรียบเทียบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในหลอดลมมากกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่าหลังได้รับเชื้อโอไมครอนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกลับเพิ่มจำนวนช้าลง 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอด เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่า ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวกำลังได้รับการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ผศ. ไมเคิล ชาน จือ-เว่ย อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ตั้งข้อสังเกตว่า อาการป่วยรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเพิ่มจำนวนของเชื้อโควิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงระบบตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยติดเชื้อด้วย นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นวงกว้าง อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ แม้เชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงน้อยลงก็ตาม.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกชี้โอไมครอนแพร่เชื้อเร็วขึ้น-ลดประสิทธิภาพวัคซีน

เจนีวา 13 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเผยเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา และทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิดมีประสิทธิภาพลดลง แต่เชื้อดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปยัง 63 ประเทศทั่วโลกนับถึงวันที่ 9 ธันวาคม และพบการระบาดอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ ซึ่งพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในระดับต่ำ และอังกฤษ ซึ่งพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในระดับสูง ทั้งยังระบุว่า ยังขาดข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นเพราะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่น้อยลง การแพร่เชื้อที่รวดเร็วขึ้น หรือทั้งสองปัจจัยรวมกัน องค์การอนามัยโลกรายงานอ้างข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิดมีประสิทธิภาพลดลงในด้านการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจเข้ามาแพร่ระบาดแทนที่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในชุมชนหลายแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการป่วยเล็กน้อย หรือไม่มีอาการป่วย แต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อดังกล่าว ขณะนี้ หลายประเทศที่มีปริมาณวัคซีนโควิดเพียงพอ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน.-สำนักข่าวไทย

ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้โอไมครอนแพร่เชื้อเร็วกว่าเดลตา 4 เท่า

โตเกียว 9 ธ.ค. – ผลวิจัยของญี่ปุ่นระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เชื้อในระยะเริ่มต้นได้รวดเร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาถึง 4.2 เท่า ซึ่งถือเป็นการยืนยันข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดที่ง่ายขึ้นของเชื้อดังกล่าว นพ. ฮิโรชิ นิชิอูระ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของโรคติดเชื้อ ได้วิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในจังหวัดเคาเต็งของแอฟริกาใต้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน และพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่เชื้อได้อย่างเร็วขึ้นถึง 4.2 เท่า รวมถึงหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนโควิดได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่เขาได้นำเสนอผลวิจัยดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ อย่างไรก็ดี ผลวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการและยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ แต่ นพ. นิชิอูระได้ใช้วิธีการวิเคราะห์แบบเดียวกันกับที่เขาเคยใช้ในผลวิจัยเกี่ยวกับการคาดการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในช่วงก่อนเปิดฉากการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ยูโรเซอร์เวียแลนซ์ (Eurosurveillance) ในเดือนกรกฎาคม ในขณะเดียวกัน ทางการท้องถิ่นของกรุงโตเกียวรายงานวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 17 คน และมียอดผู้ป่วยติดเชื้อต่ำกว่า 50 คนติดต่อกันเป็นเวลา 54 วัน และต่ำกว่า 30 คนเป็นเวลา 28 วัน ขณะนี้ ญี่ปุ่นมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 1.7 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 18,000 คน.-สำนักข่าวไทย

นิวซีแลนด์จะเปลี่ยนมาใช้ระบบอยู่ร่วมกับโควิด

เวลลิงตัน 22 พ.ย.- นิวซีแลนด์จะเปลี่ยนมาใช้ระบบการมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมนี้ ยุติการใช้มาตรการจำกัดเคร่งครัด และให้ธุรกิจในเมืองใหญ่ที่สุดเปิดทำการอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์แถลงวันนี้ว่า ความจริงอันโหดร้ายคือ เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงอยู่และไม่จากไปไหน แต่นิวซีแลนด์ได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างดี เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูง และมีมาตรการความปลอดภัยล่าสุด โดยนำสัญญาณไฟจราจรมาจัดลำดับความปลอดภัยของแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็นสีแดง ส้ม หรือเขียว ตามระดับการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน และการใช้บัตรผ่านโควิด โอ๊คแลนด์ เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของสายพันธุ์เดลตา จะเริ่มด้วยสีแดง ซึ่งต้องบังคับใส่หน้ากากอนามัยและจำกัดจำนวนคนรวมตัวตามสถานที่สาธารณะ เมืองนี้ถูกล็อกดาวน์มานานกว่า 90 วัน และเพิ่งผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำนิวซีแลนด์เผยด้วยว่า ขณะนี้ชาวนิวซีแลนด์ที่เข้าเกณฑ์ฉีดวัคซีนฉีดครบโดสแล้วร้อยละ 83 และฉีดเข็มแรกแล้วร้อยละ 88 ก่อนหน้านี้รัฐบาลนิวซีแลนด์เผยว่า จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ แล้วเปลี่ยนไปใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรเพื่อควบคุมการระบาด เมื่อผู้เข้าเกณฑ์ฉีดวัคซีนฉีดครบโดสแล้วร้อยละ 90 นิวซีแลนด์สามารถควบคุมการระบาดได้ดี จนกระทั่งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดในเดือนสิงหาคม ทำให้นายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์นต้องยกเลิกยุทธศาสตร์กำจัดโควิด และถือว่าเป็นโรคประจำถิ่น (endemic).-สำนักข่าวไทย

เดลตาระบาดหนักในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

จีนกำลังรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุด อันเป็นผลจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ง่าย หลายพื้นที่ต้องจำกัดคนที่เดินทางมาจากเมืองต้าเหลียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการระบาดหนักที่สุด

ยอดป่วยโควิดทั่วโลกทะลุ 250 ล้านคนแล้ว

ลอนดอน 8 พ.ย. – ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทะลุ 250 ล้านคนในวันนี้ ขณะที่บางประเทศในทวีปยุโรปตะวันออกพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งสูงขึ้น แม้การระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้บรรเทาลงและหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดการค้าและการท่องเที่ยวอีกครั้ง สำนักข่าวรอยเตอร์เผยผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ระบุว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายวันโดยเฉลี่ยมีอัตราลดลงร้อยละ 36 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อ 50 ล้านคนทุก ๆ 90 วัน เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา เทียบกับการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 50 ล้านคนแรกทั่วโลกที่ใช้เวลานานเกือบ 1 ปี ผลวิเคราะห์ดังกล่าวยังระบุว่า มี 55 ประเทศจาก 240 ประเทศทั่วโลก เช่น รัสเซีย ยูเครน และกรีซ ที่ยังคงพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนใกล้แตะสถิติสูงสุดนับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน โดยพบว่า ยุโรปตะวันออกอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราฉีดวัคซีนโควิดต่ำสุดในภูมิภาค และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อในทวีปยุโรปที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 1 ล้านคนในทุก 4 วัน อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายรายได้ให้ความเห็นในเชิงบวกว่า นับเป็นเรื่องดีที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ได้ด้วยการฉีดวัคซีนโควิดและภูมิคุ้มกันโรคโควิดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ส่วนนักระบาดวิทยาชั้นแนวหน้าขององค์การอนามัยโลกกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เชื่อว่าตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ทั่วโลกจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดได้ด้วยการลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ. […]

โควิดในจีนแพร่ระบาด 20 มณฑลทั่วประเทศ

สถานการณ์ระบาดระลอกล่าสุดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในจีนยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยแพร่ระบาดไปยัง 20 มณฑลทั่วประเทศ และมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจากการระบาดในครั้งนี้เกือบ 800 คนแล้ว

นิวซีแลนด์จะเลิกใช้แผนคุมยอดป่วยโควิดเป็นศูนย์

เวลลิงตัน 4 ต.ค. – นิวซีแลนด์ประกาศยกเลิกแผนมุ่งกำจัดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในเมืองโอ๊คแลนด์ โดยจะตั้งเป้าใช้แนวทางอยู่ร่วมกับเชื้อโควิดและควบคุมการระบาดควบคู่กันไปแทน นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ แถลงวันนี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในครั้งนี้ที่มีเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาเป็นตัวแปรสำคัญ นิวซีแลนด์จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการควบคุมโรคโควิดที่ใช้มาเป็นเวลายาวนาน โดยมีวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาเป็นตัวสนับสนุนในแนวทางใหม่ ทั้งยังระบุว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการใช้มาตรการเข้มงวดเป็นเวลานานไม่สามารถทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อเป็นศูนย์ได้อีกต่อไป แต่เมื่อก่อนรัฐบาลจำเป็นต้องใช้วิธีนี้เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด แต่ตอนนี้นิวซีแลนด์มีวัคซีนแล้ว และจะเริ่มเปลี่ยนแนวทางควบคุมโรคต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนในเมืองโอ๊คแลนด์จะสามารถออกนอกบ้านเพื่อพบปะกับครอบครัวหรือเพื่อนได้ไม่เกิน 10 คนตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป โรงเรียนเด็กปฐมวัยจะได้รับอนุญาตให้เปิดสอน และประชาชนสามารถเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจได้ แต่ยังคงสั่งปิดร้านค้า โรงแรมที่พัก และสำนักงานต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขของนิวซีแลนด์รายงานวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 29 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในเมืองโอ๊คแลนด์ที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เกือบ 50 วันแล้ว ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจากการระบาดครั้งล่าสุด 1,357 คน ขณะนี้ นิวซีแลนด์มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 4,300 คน และผู้เสียชีวิตเพียง 27 คน. -สำนักข่าวไทย

บ. ยาสหรัฐเผยยา “โมลนูพิราเวียร์” ต้านโควิดทุกสายพันธุ์

เมอร์ค แอนด์ โค บริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ เผยเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า ยาเม็ดต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โมลนูพิราเวียร์ ที่บริษัทกำลังพัฒนา มีแนวโน้มต้านเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา

1 2 3 7
...