fbpx

ผลวิจัยอังกฤษชี้โควิดทำให้สมองหดตัว

ลอนดอน 8 มี.ค. – ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษพบว่า โรคโควิด-19 เป็นสาเหตุที่ทำให้สมองหดตัว ทำให้เนื้อสมองสีเทาที่ควบคุมอารมณ์และความจำมีขนาดเล็กลง และทำลายเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมระบบประสาทรับกลิ่น คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุในผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ ว่า โรคโควิด-19 เป็นสาเหตุที่ทำให้สมองหดตัว ทำให้เนื้อสมองสีเทาที่ควบคุมอารมณ์และความจำมีขนาดเล็กลง และทำลายเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมระบบประสาทรับกลิ่น ผลวิจัยดังกล่าวยังพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื้อสมองเพียงบางส่วนหรือส่งผลกระทบในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยมีสมองส่วนควบคุมหน้าที่และการบริหารจัดการลดลง และมีขนาดสมองโดยเฉลี่ยหดตัวลงตั้งแต่ร้อยละ 0.2 ถึงร้อยละ 2 ผลวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสมองของอาสาสมัคร 785 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 51-81 ปี แต่ละคนจะได้รับการสแกนสมอง 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างระหว่างครั้งแรกกับครั้งที่สองประมาณ 141 วัน และมีอาสาสมัคร 401 คนที่ติดเชื้อโควิดในระหว่างการสแกนสมองครั้งแรกกับครั้งที่สอง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ทำการศึกษาดังกล่าวในช่วงที่อังกฤษกำลังเผชิญกับการระบาดรุนแรงของเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟา และเป็นช่วงที่ยังไม่มีอาสาสมัครคนใดติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา.-สำนักข่าวไทย

ม.ออกซ์ฟอร์ดพบเชื้อ HIV สายพันธุ์ใหม่ในเนเธอร์แลนด์

ลอนดอน 4 ก.พ. – คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษค้นพบเชื้อไวรัสเอชไอวีสายพันธุ์รุนแรงมากที่กำลังแพร่กระจายอย่างเงียบ ๆ ในเนเธอร์แลนด์มาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่การระบาดของเชื้อดังกล่าวไม่น่าวิตกกังวล เนื่องจากวิทยาการรักษาสมัยใหม่ในปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพต้านเชื้อดังกล่าวได้ ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ‘ไซเอินส์’ (Science) ระบุว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีสายพันธุ์วีบี (VB variant) มีปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดสูงกว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์อื่น ๆ ราว 3.5-5.5 เท่า และยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผลวิจัยชี้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์วีบีสามารถฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันและใช้ชีวิตได้ต่อไปหลังเข้ารับการรักษาเช่นเดียวผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ ดร. คริส วายแมนต์ นักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเป็นหัวหน้าคณะผู้เขียนวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า เชื้อเอชไอวีสายพันธุ์วีบียังไม่มีความน่าวิตกกังวล ผลวิจัยดังกล่าวยังระบุว่า เชื้อเอชไอวีสายพันธุ์วีบีแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษหลังปี 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษหลังปี 1990 ในเนเธอร์แลนด์ และเริ่มพบการระบาดลดลงในปี 2010 คณะนักวิจัยเชื่อว่าการระบาดของเชื้อเอชไอวีในเนเธอร์แลนด์จะไม่ทำให้เกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ เนื่องจากวิทยาการรักษาสมัยใหม่ยังคงมีประสิทธิภาพต่อเชื้อดังกล่าวได้ดี รวมถึงการตรวจพบเชื้อและการเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ของผู้ป่วย ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์วีบีในเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด 109 คน โดยมีผู้ป่วยเพียง 4 คนที่อยู่ต่างประเทศ แต่ก็เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์.-สำนักข่าวไทย

ผลวิจัยชี้วัคซีนสูตรไขว้ “ไฟเซอร์-แอสตราฯ-โมเดอร์นา” ให้ผลดี

ลอนดอน 7 ธ.ค. – ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สูตรไขว้ที่โดสแรกเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์และโดสสองเป็นวัคซีนของโมเดอร์นาทำให้มีการตอบสนองต่อภูมิต้านทานโรคโควิด-19 ดีขึ้นหลังฉีดห่างกันเป็นเวลา 9 สัปดาห์ คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุในผลวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตว่า หากฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรกและฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาหรือโนวาแวกซ์เป็นเข็มสอง จะทำให้ระดับแอนติบอดีและการตอบสนองของที-เซลล์ (T-cell) ซึ่งมีหน้าที่ค้นหาและกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อ มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดส ขณะที่การฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เป็นเข็มแรกและฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาเป็นเข็มสองทำให้มีประสิทธิภาพด้านภูมิต้านทานดีกว่าการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์สองโดส ส่วนการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เป็นเข็มแรกและฉีดวัคซีนของโนวาแวกซ์เป็นเข็มสอง จะทำให้ระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมากกว่าการได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดส แต่มีการตอบสนองของที-เซลล์และแอนติบอดีน้อยกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองโดส ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงข้อวิตกกังวลด้านความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ข้างต้น ผศ.แมทธิว สเนป ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัคร 1,070 คน เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ผลการทดลองพบว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ที่โดสแรกวัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์และโดสสองเป็นวัคซีนของโมเดอร์นาทำให้มีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ดีขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดส ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากผลการวิจัยในครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางที่ยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดสองเข็มแรก โดยที่อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกัน เนื่องจากมีปริมาณไม่เพียงพอหรือไม่แน่นอน. -สำนักข่าวไทย

ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพต้านสายพันธุ์เดลตาลดลง

การวิจัยด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงภายในเวลา 3 เดือน

เผยเว้นฉีดวัคซีนไฟเซอร์นานขึ้นสร้างแอนติบอดีได้มากขึ้น

ผลวิจัยอังกฤษระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของไฟเซอร์ โดยเว้นระยะห่างให้นานขึ้นระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 จะช่วยเพิ่มระดับโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ได้มากกว่าการเว้นระยะห่างที่สั้นกว่า แม้พบว่าระดับแอนติบอดีลดลงอย่างรวดเร็วหลังฉีดวัคซีนโดสแรกก็ตาม

เผยวัคซีนโควิดของแอสตราฯ มีประสิทธิภาพกันสายพันธุ์เดลตา

ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์/โบโอเอนเทค ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาและแคปปาที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดทดลองใช้ยาฆ่าพยาธิรักษาโควิด

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเผยวันนี้ว่า กำลังทดลองใช้ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็กทิน เพื่อนำมารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ โดยตั้งเป้าหวังช่วยให้ผู้ป่วยติดเชื้อฟื้นตัวในสถานที่นอกโรงพยาบาลได้

ออกซ์ฟอร์ดเตรียมวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่สกัดโควิดกลายพันธุ์

ลอนดอน 21 ม.ค. – มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเตรียมเร่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เวอร์ชั่นใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่พบในอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษรายงานอ้างคำยืนยันของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา บริษัทเวชภัณฑ์ของอังกฤษกำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อปรับโครงสร้างของเทคโนโลยี และอยู่ในระหว่างการประเมินว่า พวกเขาสามารถที่จะปรับปรุงแพลตฟอร์มวัคซีนชาด็อกซ์ (ChAdOx) ได้รวดเร็วแค่ไหน โฆษกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังประเมินผลกระทบของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่มีต่อการฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวัง รวมถึงประเมินกระบวนการที่จำเป็นต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ปรับปรุงใหม่อย่างรวดเร็ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ กล่าววานนี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลยาของอังกฤษมีความพร้อมและสามารถอนุมัติใช้วัคซีนที่ปรับปรุงใหม่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็ว อย่างไรก็ดี ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบออนเทค มีแนวโน้มที่จะป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่กำลังระบาดทั่วโลกได้ ไบออนเทคยังระบุอีกด้วยว่า บริษัทเตรียมเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ที่มีข้อมูลมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นอกจากนี้ แอสตราเซนเนกา โมเดอร์นา บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ และเคียวแวก บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนีกำลังทดสอบเช่นกันว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่แต่ละบริษัทพัฒนาขึ้นมานั้นจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์แพร่เชื้อเร็วได้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย

...