ลอนดอน 23 ก.ค. – ผลวิจัยอังกฤษระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของไฟเซอร์ โดยเว้นระยะห่างให้นานขึ้นระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 จะช่วยเพิ่มระดับโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ได้มากกว่าการเว้นระยะห่างที่สั้นกว่า แม้พบว่าระดับแอนติบอดีลดลงอย่างรวดเร็วหลังฉีดวัคซีนโดสแรกก็ตาม
คณะผู้เขียนรายงานผลวิจัยภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดของไฟเซอร์ที่เว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 นานขึ้นจะทำให้ระดับแอนติบอดีต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และมีระดับไม่คงที่ในช่วงที่รอฉีดวัคซีนเข็มสอง แต่หลังจากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ระดับแอนติบอดีสูงเป็น 2 เท่าของผู้ได้รับวัคซีนที่เว้นระยะห่างสั้นกว่า ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ผลวิจัยดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยในการวางกลยุทธ์ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีนโดสแรก แม้การฉีดวัคซีนครบสองโดสจะยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าวได้
นอกจากแอนติบอดีที่มีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโควิดแล้ว ยังมีที-เซลล์ที่เป็นเซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่งและมีหน้าที่หลักในการหาเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ผลวิจัยชิ้นนี้พบว่า ผู้ได้รับวัคซีนที่เว้นระยะห่างเป็นเวลานานมีระดับที-เซลล์น้อยกว่า 1.6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ได้รับวัคซีนโดยเว้นระยะสั้นราว 3-4 สัปดาห์ แต่ก็พบว่า กลุ่มแรกมีระดับทีเซลล์เฮลเปอร์ที่ช่วยสนับสนุนภูมิคุ้มกันในระยะยาวสูงกว่ากลุ่มหลัง ทั้งนี้ คณะผู้เขียนผลวิจัยดังกล่าวได้เน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนทั้งสองแบบสร้างการตอบสนองของแอนติบอดีและทีเซลล์ได้เป็นอย่างดีในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 503 คน
ก่อนหน้านี้ อังกฤษเคยเว้นระยะห่างในการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 นานสูงสุดถึง 12 สัปดาห์ แม้ไฟเซอร์เตือนว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนการเว้นระยะฉีดวัคซีนที่นานกว่า 3 สัปดาห์ ขณะนี้ อังกฤษแนะนำให้เว้นระยะห่างในการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ได้สูงสุด 8 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มจำนวนประชาชนที่จะได้รับวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ในขณะที่ยังคงพยายามหาทางเพิ่มการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันในระยะยาว. -สำนักข่าวไทย