ภูเขาไฟบนเกาะชวาปะทุ ตายแล้ว 2 คน

จาการ์ตา 5 ธ.ค.- ภูเขาไฟเซอเมรู ในจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซียปะทุเมื่อวันเสาร์ พ่นเถ้าถ่านและกลุ่มควันร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน บาดเจ็บ 41 คน และต้องอพยพคนจำนวนมากออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใกล้ภูเขาไฟแจ้งว่า ละอองเถ้าถ่านภูเขาไฟกระจายปกคลุมทั่วหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง ผู้คนพากันวิ่งหาที่กำบังจ้าละหวั่น ละอองเถ้าถ่านร้อนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากแผลไหม้ ประชาชนอพยพแล้วอย่างน้อย 300 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงหลายหมู่บ้าน เนื่องจากถนนถูกหินและต้นไม้ล้มกีดขวาง และได้ขอความช่วยเหลือจากกองทัพให้ส่งอุปกรณ์และกำลังคนสนับสนุนแล้ว ด้านสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติ (BNPB) ตั้งเต็นท์พักพิงชั่วคราว แต่การอพยพประชาชนเผชิญอุปสรรคจากกลุ่มควันหนาทึบ สถานีสังเกตการณ์ภูเขาไฟเซอเมรูรายงานว่า ภูเขาไฟพ่นเถ้าถ่านและส่งกลิ่นกำมะถันออกมาครั้งแรกเมื่อเวลา 15:00 น.วันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาเดียวกันในไทย ภูเขาไฟเซอเมรูสูงจากระดับน้ำทะเล 3,676 เมตร สูงที่สุดบนเกาะชวา และเป็นหนึ่งในภูเขาไฟมีพลัง 130 ลูกของอินโดนีเซีย ปะทุครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ครั้งนั้นไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียเข้มงวดจำกัดเดินทางสกัดโอไมครอน

จาการ์ตา 2 ธ.ค.- อินโดนีเซียเข้มงวดการบังคับใช้มาตรการควบคุมพรมแดน ขยายระยะเวลากักโรค และจำกัดการเดินทางบนถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทาง เพื่อจำกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอนหากเข้ามาในประเทศแล้ว อินโดนีเซียยังไม่ได้ประกาศว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้วหรือไม่ แต่ได้เพิ่มมาตรการเพื่อลดกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ประกอบด้วยการขยายระยะเวลากักโรคกับผู้เดินทางเข้าประเทศจาก 7 วันเป็น 10 วัน การห้ามผู้เดินทางมาจาก 11 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แต่หากเป็นชาวอินโดนีเซียที่เดินทางกลับมาจากประเทศเหล่านี้จะต้องกักโรค 14 วัน ส่วนมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศจะจำกัดจำนวนยวดยานที่อนุญาตให้ใช้ถนนที่เก็บค่าผ่านทาง เพื่อลดการเดินทางของผู้คน อินโดนีเซียมียอดติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงมาก เฉลี่ยวันละ 400 คนเท่านั้นในเดือนพฤศจิกายน เทียบกับที่เคยสูงถึงวันละ 4,000 คนในเดือนกรกฎาคม ประชากรมากกว่า 1 ใน 3 จากทั้งหมด 270 ล้านคนฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ยอดติดเชื้อสะสมมากกว่า 4 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นคน และเสียชีวิตมากกว่า 143,800 คน.-สำนักข่าวไทย

เตรียมแผนอพยพหนีไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเตรียมแผนอพยพผู้คน หลังเหตุไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันในจังหวัดชวากลาง เมื่อค่ำวานนี้ ยังไม่มีรายงานความเสียหายชัดเจน

อินโดนีเซียโต้ข่าวเรียกเงินเรือล่วงล้ำน่านน้ำ

จาการ์ตา 14 พ.ย.- กองทัพเรืออินโดนีเซียปฏิเสธข่าวเรียกเงินจากเจ้าของเรือ แลกกับการปล่อยเรือที่ทอดสมอในน่านน้ำอินโดนีเซียใกล้สิงคโปร์ โดยยืนยันว่าเป็นการกักเรือตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้บังคับการกองเรือภาคตะวันตกของอินโดนีเซียส่งหนังสือชี้แจงข้อถามของรอยเตอร์ว่า ข่าวเรื่องกองทัพเรืออินโดนีเซียรับเงินหรือเรียกรับเงินเพื่อให้ปล่อยเรือไม่เป็นความจริง ไม่มีการจ่ายเงินให้กองทัพเรือ และกองทัพเรือไม่ได้จ้างคนกลางในการดำเนินการ และว่าช่วง 3 เดือนมานี้กองทัพได้กักเรือที่เข้ามาทอดสมอในน่านน้ำอินโดนีเซียโดยไม่ได้รับอนุญาตได้มากขึ้น เป็นเรือที่แล่นออกนอกเส้นทางหรือจอดกลางทางเป็นระยะเวลานานอย่างไม่มีเหตุผล การกักเรือทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เจ้าของเรือและแหล่งข่าวความปลอดภัยการเดินเรือทางทะเลเผยว่า ช่วง 3 เดือนมานี้กองทัพเรืออินโดนีเซียได้กักเรือประมาณ 30 ลำ มีทั้งเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้า ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยหลังจากจ่ายเงินลำละ 250,000-300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.2-9.8 ล้านบาท) เงินจำนวนนี้น้อยกว่ารายได้ที่จะสูญเสีย หากเรือถูกกักไว้หลายเดือนระหว่างการพิจารณาคดีในอินโดนีเซีย ลูกเรือที่ถูกกักตัวอ้างว่า เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธใช้เรือรบบุกขึ้นเรือพวกเขา แล้วพาทั้งคนทั้งเรือไปยังฐานทัพเรือบนเกาะบาตัมหรือบินตันที่อยู่ทางใต้ของสิงคโปร์ กักไว้ในห้องแคบ ๆ จนกว่าเจ้าของเรือจะจ่ายเงินสดหรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนกลาง แหล่งข่าวเผยว่า ช่องแคบสิงคโปร์ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีเรือลอยลำอยู่หลายวันหรือหลายสัปดาห์เพื่อรอเข้าเทียบท่าที่สิงคโปร์ เพราะสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้กระบวนการล่าช้ากว่าปกติ ที่ผ่านมาเรือส่วนใหญ่จะทอดสมอรอในน่านน้ำทางฝั่งตะวันออกของช่องแคบ เพราะคิดว่าเป็นน่านน้ำสากลที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ประเทศใด แต่กองทัพเรืออินโดนีเซียระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในน่านน้ำอินโดนีเซีย.-สำนักข่าวไทย

มาเลเซียจะเปิดโครงการระเบียงท่องเที่ยวกับอินโดนีเซีย

จาการ์ตา 10 พ.ย. – นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ประกาศร่วมกันในวันนี้ว่า ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเปิดโครงการระเบียงท่องเที่ยวระหว่างกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากเมืองสำคัญ เช่น เมืองหลวงของทั้งสองประเทศ และเกาะบาหลี นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า นอกจากทั้งสองประเทศจะเปิดโครงการระเบียงท่องเที่ยวระหว่างกันแล้ว มาเลเซียจะดำเนินโครงการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในมาเลเซีย โดยที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ในขณะเดียวกัน ทางการมาเลเซียรายงานวันนี้ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 6,243 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 2.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 29,400 คน โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดครบโดสให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่กว่า 22.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ขณะที่อินโดนีเซียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 4.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 143,500 คน ซึ่งเป็นยอดผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียเพาะพันธุ์มังกรโคโมโดป้องกันสูญพันธุ์

สุราบายา 4 พ.ย. – สวนสัตว์ในอินโดนีเซียกำลังเพาะพันธุ์มังกรโคโมโด ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นของอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์ไปจากโลก เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์แห่งหนึ่งในอินโดนีเซียระบุว่า การพยายามรักษามังกรโคโมโดไว้ให้อยู่คู่โลกใบนี้จะช่วยเรียกความสนใจจากผู้นำระดับโลกที่งานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ ให้ยกระดับการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ นับตั้งแต่สวนสัตว์เริ่มโครงการเพาะพันธุ์มังกรโคโมโด ก็ทำให้จำนวนประชากรมังกรโคโมโดวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 108 ตัว วัยเด็ก 35 ตัว และมีไข่ที่อยู่ในช่วงฟักตัวอีก 40 ฟอง ทั้งยังระบุว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตได้มีโอกาสเห็นมังกรโคโมโดตัวจริงที่ไม่ใช่การดูจากภาพถ่าย มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำถิ่นของอินโดนีเซีย และพบได้ในเฉพาะบนเกาะโคโมโดและเกาะที่อยู่ใกล้เคียง ทางตะวันออกของอินโดนีเซียเท่านั้น ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดให้มังกรโคโมโดอยู่ในบัญชีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เมื่อเดือนกันยายน โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับภัยคุกคามเพิ่มขึ้นที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ถิ่นที่อยู่ของมังกรโคโมโดหายไปกว่าร้อยละ 30 ในอีก 45 ปีข้างหน้า.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียอนุมัติใช้วัคซีนโนวาแวกซ์ชาติแรกของโลก

แมริแลนด์ 2 พ.ย. – หน่วยงานกำกับดูแลยาของอินโดนีเซียประกาศอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิดของโนวาแวกซ์เป็นกรณีฉุกเฉินเป็นประเทศแรกของโลก ในขณะที่นายสแตนลีย์ เอิร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของโนวาแวกซ์ คาดว่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศจะอนุมัติใช้วัคซีนของบริษัทในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ โนวาแวกซ์ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิดของบริษัทที่ใช้ในอินโดนีเซียจะเป็นวัคซีนที่ได้รับการผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก และจัดจำหน่ายโดยบริษัทอินเดียในชื่อแบรนด์ ‘โคโวแวกซ์’ (Covovax) โดยคาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนลอตแรกให้อินโดนีเซียได้ในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่นายเอิร์คเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังพิจารณาข้อมูลเพื่อนุมัติใช้วัคซีนของโนวาแวกซ์ และคาดว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เขาคาดว่าบริษัทจะส่งมอบวัคซีนของโนวาแวกซ์จำนวนหนึ่งให้โครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกได้ภายในปีนี้ และจะส่งมอบวัคซีนจำนวนมากให้โครงการดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะนี้ โนวาแวกซ์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ และคาดว่าจะยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ และยังได้ยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนในแคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรืออีเอ็มเอ ทั้งนี้ ผลการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในระยะสุดท้ายระบุว่า วัคซีนของโนวาแวกซ์มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิดได้สูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล เช่น เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียอนุมัติฉีดวัคซีนของซิโนแวคในเด็ก 6-11 ปี

จาการ์ตา 1 พ.ย. – สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซียอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของซิโนแวคในเด็กอายุ 6-11 ปี หลังจากที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ อนุมัติใช้วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคในเด็กอายุ 5-11 ปี หัวหน้าสำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (BPOM) แถลงว่า การอนุมัติใช้วัคซีนของซิโนแวคในกลุ่มเด็กเล็กเป็นสิ่งที่น่ายินดี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้แก่เด็กเล็กถือเป็นเรื่องด่วน โดยเฉพาะในตอนนี้ที่โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มทดลองเปิดการเรียนการสอนในห้องเรียนมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว ขณะที่นายบูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่า ในช่วงนี้อินโดนีเซียพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ในโรงเรียนค่อนข้างน้อย ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียอาจเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้กลุ่มเด็กเล็กในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากต้องรอคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมจากสมาคมกุมารแพทย์อินโดนีเซียและรอกำหนดส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 ในทวีปเอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยมีเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นก่อนที่จะลดลงในเวลาต่อมา ขณะนี้ อินโดนีเซียมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 4.2 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 143,000 คน ซึ่งเป็นยอดผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอัตราฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชาชนร้อยละ 27 จากประชากรทั้งหมด 270 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียเพาะยุงมีแบคทีเรียสกัดไข้เลือดออก

ยอกยาการ์ตา 1 พ.ย.- คณะนักวิจัยในอินโดนีเซียพบวิธีต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ด้วยการเพาะพันธุ์ยุงให้มีเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสเดงกี่เติบโตในตัวยุงได้ ชาวอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลก ซึ่งเป็นโครงการไม่แสวงหากำไรเพื่อปกป้องประชาคมโลกจากโรคที่เกิดจากยุง เผยว่า หลักการคือการเพาะพันธุ์ยุงที่ดี ด้วยการนำยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่มาผสมพันธุ์กับยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย จนได้ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวที่จะไม่ทำให้คนถูกกัดติดเชื้อ ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียพบอยู่ตามธรรมชาติในแมลงชนิดต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 60 เช่น ยุง แมลงวันผลไม้ ผีเสื้อ แต่ไม่เคยพบในยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่ มหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดาในอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลกได้นำยุงมีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่เพาะในห้องทดลอง ไปปล่อยในบางพื้นที่ของเมืองยอกยาการ์ตาที่มีโรคไข้เลือดออกเดงกี่ระบาด โดยทำมาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่ลดลงมากถึงร้อยละ 77 และจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลดลงมากถึงร้อยละ 86 ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ช่วงหลายสิบปีมานี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่เพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีประชากรโลกถึงครึ่งหนึ่งเสี่ยงป่วยด้วยโรคนี้ โดยมีรายงานพบผู้ป่วยปีละ 100-400 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย

มาเลเซีย-อินโดนีเซียกังวลข้อตกลง “AUKUS”

มาเลเซียและอินโดนีเซียรู้สึกวิตกกังวลต่อการตัดสินใจของออสเตรเลียในการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ แม้แผนดังกล่าวไม่มีเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม

แผ่นดินไหวขนาด 4.8 ที่เกาะบาหลี-เสียชีวิต 3

สำนักงานค้นหาและกู้ภัยของอินโดนีเซียกล่าววันนี้ว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.8 ที่เกาะบาหลี สถานที่ท่องเที่ยวพักตากอากาศชื่อดังของอินโดนีเซียในช่วงเช้าวันเสาร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

1 33 34 35 36 37 141
...