อนามัยโลกปรับเกณฑ์ PM2.5 ใหม่สกัดมลพิษทางอากาศ

เจนีวา 23 ก.ย. – องค์การอนามัยโลกปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้พลังงานสะอาดและป้องกันการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ โดยพบว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนถึงปีละกว่า 7 ล้านราย องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศครั้งใหม่ เช่น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เป็นผลมาจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายล้านคน เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ค่ามาตรฐานในบรรยากาศของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งปรับลดลงจากเกณฑ์เดิมที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการสูดอากาศที่มีค่าฝุ่นพีเอ็มระดับต่ำในระยะยาวยังคงมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง และส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกัน ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เผยว่า มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนปีละกว่า 7 ล้านรายทั่วโลก และมีผลวิจัยที่ชี้ว่า แม้มลพิษทางอากาศจะอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ระบบสมองไปจนถึงทารกที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์มารดา องค์การอนามัยโลกหวังว่าการปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศสมาชิก 194 ประเทศดำเนินการเพื่อลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย ขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการให้คำมั่นเกี่ยวกับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนเปิดฉากการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายนนี้.-สำนักข่าวไทย

ชี้วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังไม่จำเป็นต่อประชาชนทั่วไป

วอชิงตัน 14 ก.ย. – คณะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ และเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกระบุในวารสารการแพทย์เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังไม่จำเป็นต่อประชาชนทั่วไป คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุในวารสารการแพทย์ ‘แลนเซต’ ว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือระยะเวลาในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ควรขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลทางคลินิกหรือข้อมูลด้านระบาดวิทยาอย่างรอบคอบ ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโรคโควิดยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก หากนำไปฉีดให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้ คณะผู้เขียนบทความดังกล่าวประกอบด้วยมาริยง กรูเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและตรวจสอบวัคซีน และฟิล ครอส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเดียวกันของเอฟดีเอ โดยที่ทั้งสองคนได้วางแผนลาออกจากเอฟดีเอในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งสองคนระบุว่า ประชาชนบางคน เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ บทความดังกล่าวยังมีผู้เขียนรายอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ดี บทความดังกล่าวถือว่าขัดแย้งกับแผนของรัฐบาลสหรัฐที่จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสเร็วสุดภายในสัปดาห์หน้า โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของสหรัฐในวันที่ 17 กันยายนนี้.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกวอนประเทศร่ำรวยหยุดฉีดวัคซีนเข็มสาม

เจนีวา 9 ก.ย. – องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสได้รับวัคซีนมากขึ้น ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าให้ทุกประเทศมีอัตราฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สูงกว่าร้อยละ 10 จากประชากรทั้งหมดของแต่ละประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายน ประเทศที่มีรายได้สูงเกือบร้อยละ 90 ต่างบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่มีประเทศรายได้ต่ำแม้แต่เพียงประเทศเดียวที่มีอัตราฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ ประเทศที่มีรายได้สูงยังบริจาควัคซีนไม่ถึงร้อยละ 15 จากปริมาณวัคซีนที่พวกเขาสัญญาว่าจะบริจาคให้โครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก ดร. ทีโดรส ยังระบุว่า องค์การอนามัยโลกไม่อยากได้คำสัญญาอีกต่อไป แต่ต้องการเพียงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น และเรียกร้องให้ประเทศที่มีรายได้สูงระงับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกประเทศมีอัตราฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนร้อยละ 40 จากประชากรทั้งหมดของแต่ละประเทศ ขณะนี้ ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศอื่น ๆ เริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องเมื่อเดือนก่อนให้ทั่วโลกระงับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 […]

WHO จับตาเชื้อโควิดสายพันธุ์ “มิว” ในโคลอมเบีย

องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งพบครั้งแรกในโคลอมเบียเมื่อเดือนมกราคม และจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่น่าจับตา

ชี้ความดันโลหิตสูงเป็นผลมาจากโรคอ้วนและความยากจน

องค์การอนามัยโลก กล่าววันนี้ว่า ประชาชนทั่วโลกเกือบ 1,300 คน ประสบกับปัญหาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นฆาตกรเงียบ ที่มักจะเป็นผลมาจากโรคอ้วนที่เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เส้นโลหิตในสมองแตกและโรคไต

อนามัยโลกวอนประเทศรวยหยุดฉีดวัคซีนโควิดเข็มสาม

เจนีวา 5 ส.ค. – องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน เนื่องจากเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงในการฉีดวัคซีนของประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เขาเข้าใจความวิตกกังวลของรัฐบาลทั่วโลกในการป้องกันประชาชนจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดียและแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่อาจยอมรับได้ว่ามีหลายประเทศที่ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่จากปริมาณวัคซีนที่มีทั้งหมดทั่วโลกอยู่แล้ว และยังจะใช้วัคซีนมากขึ้นกว่าเดิมอีก ดร. ทีโดรส ระบุด้วยว่า มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ส่วนใหญ่ส่งไปให้ประเทศที่มีรายได้สูง ให้เน้นส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำโดยด่วน นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังเผยว่า ประเทศที่มีรายได้สูงได้ฉีดวัคซีนราว 50 โดสต่อประชาชน 100 คนในเดือนพฤษภาคมและเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากนั้น ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำฉีดวัคซีนได้เพียง 1.5 โดสต่อประชาชน 100 คน เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน ในขณะเดียวกัน นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐ ระบุเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ข้อเรียกร้องของ ดร. ทีโดรสที่ต้องการให้ประเทศที่มีรายได้สูง เช่น สหรัฐ หยุดฉีดวัคซีนเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำจะฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้นั้นเป็นแนวคิดที่ผิด เนื่องจากสหรัฐสามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ชาวอเมริกัน หากได้รับการอนุมัติ และบริจาควัคซีนส่วนเกินให้แก่ประเทศอื่น ๆ […]

WHO เผย 1 สัปดาห์ โควิดคร่าชีวิตทั่วโลกพุ่ง 21%

องค์การอนามัยโลก เผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดทั่วโลกพุ่งขึ้นถึง 21% ภายเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ขณะที่อิสราเอลเตรียมฉีดวัคซีนเข็มสามให้ผู้สูงอายุ

สหรัฐหนุนอนามัยโลกเดินหน้าแผนสืบที่มาโควิดระยะสอง

คูเวต ซิตี 29 ก.ค. – สหรัฐกล่าวสนับสนุนแผนการสืบสวนที่มาของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระยะที่สองในจีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐระบุว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ยืนยันว่า สหรัฐสนับสนุนแผนการสืบสวนที่มาของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงในจีน เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและป้องกันการระบาดในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เขายังได้เน้นย้ำว่า การสืบสวนที่มาของโรคโควิด-19 ระยะที่สองจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับเวลา อ้างอิงหลักฐาน โปร่งใส นำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญ และปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้ นายบลิงเคนได้พบกับ ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในกรุงคูเวต ซิตีของคูเวตเมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงานการสืบสวนที่มาของโรคโควิด-19 ในจีนเมื่อเดือนมีนาคมที่ระบุว่า เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการทดลองในเมืองอู่ฮั่นของจีนตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแผนสืบสวนที่มาของโรคโควิด-19 ระยะที่สองในจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจีนกลับปฏิเสธเข้าร่วมแผนงานดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐได้สั่งให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐสืบสวนที่มาของโรคโควิด-19 อีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนอินโดนีเซียที่คิดผ่อนคลายมาตรการ

องค์การอนามัยโลกเรียกร้องอินโดนีเซียใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เคร่งครัดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หลังจากผู้นำอินโดนีเซียแสดงท่าทีว่าจะผ่อนคลายมาตรการจำกัด

จีนปัดร่วมแผนสืบที่มาโควิดระยะสองของอนามัยโลก

ปักกิ่ง 22 ก.ค. – จีนไม่เห็นด้วยกับแผนการสืบสวนที่มาของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 ระยะที่สองขององค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงสมมติฐานที่ว่าเชื้อโควิดอาจหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการทดลองของจีน นายเจิ้ง อี้ซิน รัฐมนตรีช่วยของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) กล่าวว่า จีนจะไม่ยอมรับแผนการสืบสวนที่มาของโรคโควิดระยะที่สองขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีบางแง่มุมที่ขาดสามัญสำนึกและขัดต่อหลักวิทยาศาสตร์ เขารู้สึกตกใจเมื่อได้อ่านแผนงานดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกครั้งแรก เพราะมีสมมติฐานว่าจีนละเมิดระเบียบการที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจนทำให้เชื้อโควิดหลุดออกมาสู่โลกภายนอกในระหว่างดำเนินการวิจัย นายเจิ้งยังเน้นย้ำถึงจุดยืนของจีนที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนเนื่องจากเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า จีนหวังว่าองค์การอนามัยโลกจะทบทวนข้อพิจารณาและข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของจีนอย่างจริงจัง ติดตามที่มาของโรคโควิดตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างจริงใจ และกำจัดการแทรกแซงทางการเมือง โดยที่จีนขอต่อต้านการโยงเรื่องนี้เข้ากับการเมือง ในขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของจีนในโครงการสืบสวนที่มาของโรคโควิดร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกขยายขอบเขตการสืบเรื่องดังกล่าวนอกเหนือจากจีนให้ครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งยังระบุว่า จีนเชื่อว่าสมมติฐานเรื่องเชื้อโควิดหลุดจากห้องปฏิบัติการเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง และคงไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงให้มากไปกว่านี้ แต่ควรศึกษาเรื่องที่มาของโรคโควิดในสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีประชากรค้างคาวอยู่มาก อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ยังไม่อาจทิ้งสมมติฐานเรื่องเชื้อโควิดหลุดออกจากห้องปฏิบัติการไปได้ทั้งหมด พร้อมแนะนำว่า หากมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับสมมติฐานดังกล่าว ประเทศอื่น ๆ ก็ควรตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการเช่นกัน. -สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกหนุนจัดโตเกียวโอลิมปิกแม้โควิดระบาด

ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวสนับสนุนการเดินหน้าจัดแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เพื่อพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำเร็จจากการวางแผนและการใช้มาตรการที่เหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

1 7 8 9 10 11 28
...