บรัสเซลส์ 19 ต.ค.- รอยเตอร์อ้างร่างเอกสารว่า โครงการนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีน การตรวจและยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต้องการได้ยารักษาในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 330 บาท)
รอยเตอร์รายงานว่า ร่างเอกสารลงวันที่ 13 ตุลาคมได้กำหนดเป้าหมายของโครงการตัวเร่งในการเข้าถึงเครื่องมือโควิด-19 (ACT-A) จนถึงเดือนกันยายน 2565 ว่า ต้องการส่งมอบชุดตรวจให้แก่ประเทศยากจนประมาณ 1,000 ล้านชุด และจัดหายารักษาให้แก่ผู้ติดเชื้อสูงสุด 120 ล้านคนจากทั้งหมด 200 ล้านคนที่คาดว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ร่างเอกสารไม่ได้ระบุชื่อ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโควิดที่อยู่ระหว่างการทดลองของเมอร์ค บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ แต่คาดหวังไว้ว่า จะสามารถซื้อยาต้านไวรัสชนิดรับประทานแบบใหม่ให้แก่ผู้ป่วยอาการปานกลางได้ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงซื้อยาภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน และหวังว่าจะมียาให้จัดสรรตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2565
รอยเตอร์ระบุว่า โครงการนี้กำลังเจรจาซื้อยารักษากับเมอร์คและบริษัทผู้ผลิตยาสามัญ หากซื้อได้ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์สหรัฐจะถือว่าถูกมาก เพราะสหรัฐตกลงจะซื้อในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,320 บาท) จำนวน 1 ล้าน 7 แสนคอร์ส ขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเมินว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ที่ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตยาสามัญอาจมีราคาเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 660 บาท) และอาจลดลงเหลือคอร์สละ 7.7 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 250 บาท) หากผลิตจำนวนมาก จนถึงขณะนี้เมอร์คได้ให้ใบอนุญาตผลิตแก่บริษัทผู้ผลิตยาสามัญในอินเดียแล้ว 8 ราย.-สำนักข่าวไทย