อนามัยโลกเตือนโอไมครอนอันตรายต่อคนไม่ฉีดวัคซีนโควิด

เจนีวา 13 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่สายพันธุ์โอไมครอนก็ยังคงจัดเป็นเชื้อไวรัสระดับอันตราย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นในสวิตเซอร์แลนด์ว่า มีอีกกว่า 90 ประเทศทั่วโลกที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดในแต่ละประเทศ และมีประชากรกว่าร้อยละ 85 ในทวีปแอฟริกาที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว ทั่วโลกต้องไม่ยอมให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดได้อย่างอิสระหรือยอมแพ้ต่อการควบคุมโรคนี้ โดยเฉพาะในขณะที่ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ดร. ทีโดรส ยังระบุว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลกเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา ผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ทั้งนี้ หากทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดได้ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เกิดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งอาจรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอไมครอน ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์เมื่อวันอังคารว่า ทั่วโลกพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ในช่วงรอบสัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 9 มกราคม ซึ่งทำสถิติผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซ้ำไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดี

คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเตือนว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มกระตุ้นที่เป็นวัคซีนต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซ้ำไปมาไม่ใช่กลยุทธ์ที่ได้ผลในการรับมือเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่

เตือนชาวยุโรปครึ่งหนึ่งจะติดเชื้อโอไมครอนเร็ว ๆ นี้

เจนีวา 12 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ประชากรครึ่งหนึ่งของทวีปยุโรปจะติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนภายใน 6-8 สัปดาห์หน้า ในขณะที่การระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวเหมือนคลื่นยักษ์ที่ซัดจากภูมิภาคตะวันตกไปสู่ตะวันออกจนแพร่ระบาดไปทั่วทวีปยุโรปแทนที่สายพันธุ์เดลตา นพ. ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป แถลงเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า ตอนนี้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นเหมือนคลื่นยักษ์ที่ซัดจากภูมิภาคตะวันตกไปสู่ตะวันออกจนแพร่กระจายไปทั่วยุโรปแทนสายพันธุ์เดลตาที่ประเทศในยุโรปสามารถควบคุมการระบาดได้จนถึงช่วงปลายปีก่อน เขายังอ้างการคาดการณ์ของสถาบันชี้วัดและประเมินผลสุขภาพ (IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐว่า ประชากรในทวีปยุโรปกว่าร้อยละ 50 จะติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนภายใน 6-8 สัปดาห์หน้า ทั้งนี้ คาดการณ์ดังกล่าวอ้างอิงจากยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 7 ล้านคนทั่วทวีปยุโรปในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากยอดผู้ป่วยติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า นพ. คลูเกอ ยังระบุว่า ประเทศในยุโรปและเอเชียกลางยังคงตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดอย่างหนัก เนื่องจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดจากประเทศในภูมิภาคตะวันตกมาสู่คาบสมุทรบอลข่านที่อยู่ในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละประเทศต้องหาทางรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนโดยคำนึงถึงสถานการณ์ระบาดของโรค ทรัพยากรที่มีอยู่ สถานะการฉีดวัคซีนโควิด รวมถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี ผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ แต่เชื้อโอไมครอนยังคงแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสติดเชื้อโควิดได้ นอกจากนี้ ยอดผู้ป่วยติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นจะทำให้ระบบสาธารณสุขเผชิญกับภาวะตึงตัว.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนทั่วโลกอย่าคิดว่าโอไมครอนไม่รุนแรง

องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ทุกคนไม่ควรคิดว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรง เพราะสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั่วโล

อนามัยโลกเตือนความเสี่ยงจากโอไมครอนยังสูงมาก

เจนีวา 29 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังคงอยู่ในระดับสูงมาก ในขณะที่ทั่วโลกพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานับถึงวันอาทิตย์ องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์เมื่อวันพุธว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ ความเสี่ยงโดยรวมที่เชื่อมโยงกับการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังคงอยู่ในระดับสูงมาก โดยที่เชื้อดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล มีหลักฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาถึง 2 เท่าภายใน 2-3 วัน และทำให้หลายประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เช่น อังกฤษและสหรัฐ ซึ่งพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลักแล้ว ทั้งนี้ การระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวระบุว่า แอฟริกาใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดลดลงถึงร้อยละ 29 โดยที่แอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกที่พบการระบาดของเชื้อดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นจากอังกฤษ แอฟริกาใต้ และเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่พบอัตราผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนต่อประชากรสูงที่สุดในโลก ชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวมีอัตราทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่ยังคงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุว่า กลุ่มประเทศที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกชี้ไม่มีประเทศใดรอดพ้นโควิดระบาด

เจนีวา 23 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า การที่ประเทศร่ำรวยเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ประชาชนของตนเองยิ่งตอกย้ำปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านวัคซีนโควิดที่อาจทำให้การระบาดของโรคโควิดไม่จบสิ้น และไม่มีประเทศใดสามารถรอดพ้นจากการระบาดของโรคโควิดได้ ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวย้ำว่า ทั่วโลกยังคงต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงมากกว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว และไม่มีประเทศใดสามารถรอดพ้นจากการระบาดของโรคโควิดได้ การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบครอบคลุมของประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะยืดเวลาการระบาดออกไปมากกว่าทำให้การระบาดยุติลง การส่งวัคซีนโควิดไปยังประเทศที่มีอัตราฉีดวัคซีนครบสองโดสในระดับสูงจะยิ่งทำให้เชื้อโควิดมีโอกาสแพร่ระบาดและกลายพันธุ์มากขึ้น ดร. ทีโดรส ยังระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอย่างยิ่งเมื่อยังคงมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทวีปแอฟริกามากถึงร้อยละ 75 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ทั้งที่ทั่วโลกได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิดมาปีหนึ่งแล้ว ขณะที่ข้อมูลของสหประชาชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า ประเทศที่มีรายได้สูงฉีดวัคซีนโควิดโดสแรกให้ประชาชนร้อยละ 67 ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำยังฉีดวัคซีนโดสแรกได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของ ดร. ทีโดรส มีขึ้นในขณะที่เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยพบแล้วใน 106 ประเทศทั่วโลก. -สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนเลิกจัดงานคริสต์มาส-ปีใหม่สกัดโอไมครอน

เจนีวา 21 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนให้ยกเลิกจัดงานสังสรรค์หรือการเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทั่วโลก ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ผู้คนทั่วโลกรู้สึกเบื่อหน่ายกับการระบาดของเชื้อโควิด ทุกคนต้องการใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว รวมถึงการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติดังเดิม แนวทางที่รวดเร็วที่สุดในตอนนี้เพื่อให้ทุกคนไปถึงจุดหมายนั้นก็คือ ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจยกเลิกการจัดงานช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนประชาชนต้องยกเลิกแผนการเดินทางในช่วงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องชีวิตของทุกคน เขามองว่า การประกาศยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานในตอนนี้ยังดีกว่าต้องมานั่งเสียใจเรื่องยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในภายหลัง ดร. ทีโดรส ยังระบุว่า การระบาดของโรคโควิดอาจยุติลงภายในปีหน้า เนื่องจากจะมีประชากรร้อยละ 70 ของทุกประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสในช่วงกลางปีหน้า นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิดมากขึ้น องค์การอนามัยโลกจำเป็นต้องเดินหน้าสืบสวนเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะรู้ที่มาของโรคโควิดเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการป้องกันโรคภัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน โซเมีย สวามินาตัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การด่วนสรุปจากหลักฐานเบื้องต้นว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก พร้อมทั้งเตือนว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ระบบสาธารณสุขทั่วโลกเผชิญกับภาวะตึงตัวอีกครั้ง. -สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนโอไมครอนแพร่เร็วอย่างไม่เคยพบมาก่อน

เจนีวา 15 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวใน 77 ประเทศแล้ว ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกแถลงว่า เขารู้สึกวิตกกังวลว่าประเทศต่าง ๆ ยังรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ไม่ดีนัก ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าได้ประเมินความอันตรายของเชื้อดังกล่าวต่ำเกินไป แม้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้เกิดอาการป่วยไม่รุนแรง แต่ก็อาจทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งจนระบบสาธารณสุขต้องเผชิญกับภาวะตึงตัว เขายังระบุเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอาจมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ควรคำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญด้วย การฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้แก่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำต่ออาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจะทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิดต้องตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีน บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศใช้คำสั่งระงับการเดินทางจากแอฟริกาใต้และประเทศใกล้เคียงหลังพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนครั้งแรกในแอฟริกาใต้ แต่แนวทางดังกล่าวกลับประสบความล้มเหลวในการพยายามควบคุมการระบาด ขณะที่ผลการศึกษาล่าสุดของไฟเซอร์ระบุว่า วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนลดลงเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่การฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สามจะช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกชี้โอไมครอนแพร่เชื้อเร็วขึ้น-ลดประสิทธิภาพวัคซีน

เจนีวา 13 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเผยเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา และทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิดมีประสิทธิภาพลดลง แต่เชื้อดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปยัง 63 ประเทศทั่วโลกนับถึงวันที่ 9 ธันวาคม และพบการระบาดอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ ซึ่งพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในระดับต่ำ และอังกฤษ ซึ่งพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในระดับสูง ทั้งยังระบุว่า ยังขาดข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นเพราะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่น้อยลง การแพร่เชื้อที่รวดเร็วขึ้น หรือทั้งสองปัจจัยรวมกัน องค์การอนามัยโลกรายงานอ้างข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิดมีประสิทธิภาพลดลงในด้านการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจเข้ามาแพร่ระบาดแทนที่เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในชุมชนหลายแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการป่วยเล็กน้อย หรือไม่มีอาการป่วย แต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อดังกล่าว ขณะนี้ หลายประเทศที่มีปริมาณวัคซีนโควิดเพียงพอ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเผยวัคซีนโควิดที่มีอยู่น่าจะต้านโอไมครอนได้

เจนีวา 8 ธ.ค. – เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันน่าจะยังมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน นพ. ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก เผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิดได้ดีกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกมีวัคซีนโควิดประสิทธิภาพสูงที่ผ่านการรับรองว่าสามารถต้านทานเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ในด้านการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เขาคาดว่าวัคซีนโควิดที่มีอยู่จะยังคงมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่น ๆ โดยมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ความเห็นของ นพ. ไรอัน มีขึ้นในขณะที่ผลวิจัยล่าสุดของแอฟริกาใต้ ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคอาจมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนลดลงถึง 40 เท่าเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิดได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวอ้างอิงจากการทดลองตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร 12 คนในแอฟริกาใต้ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าวัคซีนของโมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนขนานอื่น ๆ มีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนเอเชีย-แปซิฟิก เตรียมรับมือโอไมครอนระบาด

มะนิลา 3 ธ.ค. – เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกเตือนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เตรียมรับมือกับยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขและการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดครบสองโดสให้แก่ประชาชน นพ. ทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก แถลงวันนี้ว่า การใช้มาตรการควบคุมพรมแดนอาจช่วยซื้อเวลาเพื่อชะลอการระบาดได้ แต่ประเทศและชุมชนต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น และไม่ควรพึ่งมาตรการควบคุมพรมแดนเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการเตรียมรับมือกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่าประเทศต่าง ๆ ไม่ควรเปลี่ยนแนวทางควบคุมโรคโควิดที่ใช้กันอยู่ ทั้งยังระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ต้องใช้บทเรียนที่ได้จากการรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา และเรียกร้องให้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดครบสองโดสในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูง รวมถึงคงการใช้มาตรการป้องกันต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้อย่างไร และทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงหรือไม่ หลังแอฟริกาใต้เผยว่าพบเชื้อดังกล่าวเป็นที่แรกของโลกเมื่อเดือนก่อนและองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล ทั้งนี้ มีหลายสิบประเทศทั่วโลกที่รายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนก่อนที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย จนทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนคำสั่งห้ามเดินทางไม่ช่วยสกัดโอไมครอน

เจนีวา 1 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนว่า การใช้มาตรการห้ามการเดินทางแบบปูพรมกว้างขวางไปทั่วจะไม่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศรีบประกาศใช้มาตรการดังกล่าวมากขึ้น ในขณะที่ภูมิภาคลาตินอเมริกาพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 รายแรกแล้ว องค์การอนามัยโลกระบุเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า การใช้มาตรการห้ามการเดินทางที่ครอบคลุมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี หลังแคนาดาประกาศห้ามอีก 3 ประเทศจากทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย มาลาวี และอียิปต์ องค์การอนามัยโลกยังระบุในประกาศคำแนะนำการเดินทางว่า การใช้มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดอุปสรรคระหว่างประเทศต่าง ๆ ในด้านการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงและยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เขาเข้าใจว่าประเทศต่าง ๆ ต้องหาทางปกป้องพลเมืองของตนจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ยังไม่มีข้อมูลอธิบายอย่างชัดเจน แต่เขาขอให้ทั่วโลกอย่าตื่นตระหนก ให้ความร่วมมือ และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการควบคุมเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอย่างสมเหตุสมผล ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคลาตินอเมริการะบุเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 รายแรกที่เดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังบราซิล ขณะที่ญี่ปุ่นเผยว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกเมื่อวานนี้หลังใช้มาตรการห้ามผู้เดินทางต่างชาติเข้าประเทศได้เพียงวันเดียว ขณะนี้ มีหลายสิบประเทศและดินแดนทั่วโลกที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ […]

1 5 6 7 8 9 28
...