เตือนโอไมครอนกำลังมุ่งไประบาดในยุโรปตะวันออก

โคเปนเฮเกน 15 ก.พ.- องค์การอนามัยโลกเตือนว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอนกำลังมุ่งหน้าไปแพร่ระบาดในยุโรปตะวันออก ขอให้ทางการเร่งปรับปรุงเรื่องการฉีดวัคซีนและมาตรการป้องกันต่าง ๆ นายฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลกแถลงว่า ช่วง 2 สัปดาห์มานี้มีผู้ติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่ายุโรปตะวันออกอย่างอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จอร์เจีย รัสเซีย และยูเครน ขณะที่บางประเทศอย่างโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็กส่งสัญญาณว่า จะผ่อนคลายมาตรการที่ใช้จำกัดการระบาดในเดือนมีนาคม หากยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกเห็นว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการ เช่น การตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็วและการสวมหน้ากากอนามัยต่อไป เพราะทั่วทั้งยุโรปพบผู้ติดเชื้อรวมกันมากกว่า 165 ล้านคนแล้วจนถึงขณะนี้ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 25,000 คนเมื่อสัปดาห์ก่อน นายคลูเกอระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเริ่มเข้ามาแพร่ระบาดในยุโรปตะวันออก ขณะที่สายพันธุ์เดลตาก็ยังคงแพร่อย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และไม่ใช่เวลาที่จะยกเลิกมาตรการที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดการแพร่ระบาดได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เร่งหาสาเหตุที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ เพราะพบว่าคนวัย 60 ปีขึ้นไปในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย คีร์กิซสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถาน ฉีดวัคซีนแล้วไม่ถึงร้อยละ 40.-สำนักข่าวไทย

นายกฯ ชื่นชม 2 บุคลากรแพทย์ไทยได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก

นายกฯ ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ไทย 2 ท่าน ได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก พร้อมขอบคุณความทุ่มเทสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ สาธารณสุขไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก

องค์การอนามัยโลก มอบรางวัลแก่ 2 บุคลากรสาธารณสุขไทย

องค์การอนามัยโลกประกาศมอบรางวัลระดับโลกแก่บุคลากรสาธารณสุขไทย 2 ท่าน โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ รับรางวัล Dr LEE Jong-wook จากการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และนพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข จักษุแพทย์จอประสาทตา รพ.ราชวิถี รับรางวัล Sasakawa Health Prize ในการคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา

โคแวกซ์ปรับลดปริมาณวัคซีนโควิดที่จะส่งให้เกาหลีเหนือ

เปียงยาง 10 ก.พ. – โครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ได้ปรับลดจำนวนวัคซีนโควิดที่จะส่งไปให้เกาหลีเหนือในปีนี้เหลือเพียง 1.54 ล้านโดส ลดลงจาก 8.11 ล้านโดสเมื่อปีก่อน เนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงไม่ยอมติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ระบุว่า โครงการโคแวกซ์ได้ปรับลดจำนวนวัคซีนโควิดที่จะส่งให้เกาหลีเหนือในปีนี้เหลือเพียง 1.54 ล้านโดส ลดลงจาก 8.11 ล้านโดสเมื่อปีก่อน ขณะที่โฆษกขององค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน “กาวี” (Gavi) ที่ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกในโครงการโคแวกซ์ กล่าวว่า โคแวกซ์ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจัดสรรวัคซีนโควิดตามความต้องการของแต่ละประเทศ และจะไม่นำวัคซีนที่เก็บสะสมไว้เมื่อปีก่อนสำหรับเกาหลีเหนือมารวมไว้ในการจัดสรรปีนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกาหลีเหนือได้สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิดขนานใดมาใช้ในประเทศหรือไม่ แม้สื่อหลายแห่งระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสำคัญของเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่ง เช่น เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่ชายแดน ที่อาจได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า เกาหลีเหนือเคยปฏิเสธไม่รับวัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกาที่ได้รับผ่านโครงการโคแวกซ์ เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน รวมถึงการไม่รับวัคซีนซิโนแวกของจีน 3 ล้านโดสเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ เกาหลีเหนือยืนยันว่ายังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแม้แต่รายเดียวในประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้และสหรัฐต่างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกพบโอไมครอน BA.2 ระบาด 57 ประเทศแล้ว

เจนีวา 2 ก.พ. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า พบการระบาดของเชื้อโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลวิจัยบางส่วนชี้ว่า สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานอัปเดตสถานการณ์ด้านระบาดวิทยารายสัปดาห์เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า พบการระบาดของเชื้อโอไมครอนเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 93 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดในเดือนมกราคม และพบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโควิดโอไมครอน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3 ทั้งยังระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรก ยังคงครองสัดส่วนการระบาดสูงกว่าร้อยละ 96 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนทั้งหมดในระบบฐานข้อมูลกลางโควิดโลก (GISAID) รายงานดังกล่าวยังระบุว่า พบตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม เช่น หนามโปรตีนที่อยู่บนพื้นผิวของเชื้อไวรัสที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ โดยพบการระบาดของเชื้อ BA.2 ใน 57 ประเทศแล้ว นอกจากนี้ ในบางประเทศยังพบการระบาดของเชื้อดังกล่าวเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์ย่อยโอไมครอนทั้งหมดรวมกัน องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความแตกต่างของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย และเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะต่าง ๆ ของเชื้อเหล่านี้ […]

อนามัยโลกเผยทั่วโลกเผชิญปัญหาขยะที่เกิดจากโควิด

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า เข็มฉีดยา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด และขวดบรรจุวัคซีนโควิดที่ใช้แล้ว กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มีขยะทางการแพทย์หลายหมื่นตันทั่วโลกที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อนามัยโลกสอบ ผอ. ภูมิภาคเอเชียถูกกล่าวหารังแก พนง.

โตเกียว 28 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระดับภูมิภาคในทวีปเอเชียใช้อำนาจรังแกพนักงาน ใช้คำพูดเหยียดเชื้อชาติ และแอบปล่อยข้อมูลลับเรื่องวัคซีนไปให้ญี่ปุ่น ในขณะที่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดว่าไม่เป็นความจริง องค์การอนามัยโลกระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ได้รับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวกับ นพ. ทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ และจะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อไป หลังสำนักข่าวเอพีได้รายงานเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้องขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันพฤหัสบดีว่า พนักงานกลุ่มดังกล่าวได้ส่งจดหมายร้องเรียนผ่านอีเมลเมื่อสัปดาห์ก่อนที่กล่าวหา นพ. คาซาอิ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ว่าใช้อำนาจรังแกพนักงานต่าง ๆ นานา เช่น การใช้คำพูดเหยียดเชื้อชาติ การใช้วาจาดูถูกพนักงานบางสัญชาติ การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นพิษ การสร้างวัฒนธรรมกลั่นแกล้งอย่างเป็นระบบ และการเย้ยหยันในที่สาธารณะ รายงานดังกล่าวยังอ้างคำพูดของพนักงานไม่เผยนามขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า นพ. คาซาอิ ซึ่งนิยมการทำงานแบบกุมอำนาจเด็ดขาด ทำให้พนักงานในตำแหน่งสำคัญต้องลาออกไปกว่า 55 คนเมื่อปีก่อน และตำแหน่งส่วนใหญ่ก็ยังคงว่างอยู่จนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน นพ. คาซาอิ ระบุในแถลงการณ์ดังกล่าวว่า เขายอมรับว่าเข้มงวดกับพนักงานมากจนเกินไป แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติหรือปล่อยข้อมูลลับเกี่ยวกับวัคซีนให้ญี่ปุ่นว่าไม่เป็นความจริง ทั้งยังระบุว่า เขากำลังหาทางปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการและสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกชี้ทั่วโลกอยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญของโรคโควิด

เจนีวา 24 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 ระยะเฉียบพลัน ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ปีที่สามของการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นช่วงระยะรอยต่อสำคัญ ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเคียงข้างนางสเวนเนีย ชูลเซอ รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของเยอรมนีในวันนี้ว่า ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ปีที่สามของการระบาดของโรคโควิด-19 และถือเป็นช่วงระยะรอยต่อสำคัญ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 ระยะเฉียบพลัน และไม่ปล่อยให้การระบาดลากยาวต่อไปจนทำให้เกิดความตื่นตระหนกและการเพิกเฉยที่ไม่จบสิ้น ทั้งยังระบุว่า เยอรมนีได้กลายเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลก แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้ สหรัฐเคยเป็นประเทศผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลกมาก่อน ในขณะเดียวกัน นางชูลเซอ กล่าวว่า หน้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือจี 7 คือการยุติการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก และเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนโควิดโดยด่วน ทั้งนี้ งานประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การอนามัยโลกได้เริ่มขึ้นที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ โดยจะใช้เวลา 1 สัปดาห์เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการดำเนินงานในอนาคต เช่น การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ ดร. ทีโดรส เป็นสมัยที่สอง และข้อเสนอที่ทำให้องค์การอนามัยโลกมีอิสระทางการเงินมากขึ้น. -สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกคาดยุโรปใกล้สิ้นสุดการระบาดของโอไมครอน

เจนีวา 24 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เข้าสู่ระยะใหม่ และอาจทำให้การระบาดของโรคดังกล่าวในทวีปยุโรปสิ้นสุดลง แต่เตือนว่าอาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีกในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ นพ. ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป เผยเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ทวีปยุโรปมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่จุดสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีชาวยุโรปร้อยละ 60 ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนภายในเดือนมีนาคม และเมื่อการระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวในทวีปยุโรปลดลง คนทั่วโลกก็จะมีภูมิคุ้มกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจากการฉีดวัคซีนโควิดและการมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อ รวมถึงการสิ้นสุดฤดูหนาวในทวีปยุโรป เขาคาดการณ์ว่า ทวีปยุโรปจะมีการระบาดลดลงก่อนที่จะกลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว แต่การระบาดดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นอีกก็ได้ อย่างไรก็ดี นพ. คลูเกอ เตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินให้โรคโควิด-19 เป็นโรคเฉพาะถิ่น เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจให้ทั่วโลกมากแล้วหลายครั้ง ทุกคนจึงจำเป็นต้องระมัดระวังตัวเองต่อไป ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า อาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีกในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่. -สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกชี้ไม่มีหลักฐานเด็ก-วัยรุ่นต้องฉีดวัคซีนเข็มสาม

เจนีวา 19 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดร. สุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันอังคารว่า แม้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนป้องกันโรคโควิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงหลังฉีด ในขณะที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั่วโลกต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลกลุ่มใดจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่ระบุว่า เด็กหรือวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ดร. สวามินาธาน ยังระบุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงขององค์การอนามัยโลกจะประชุมร่วมกันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาคำถามที่เฉพาะเจาะจงในประเด็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชากรในแต่ละประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประชากรสูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย ก่อนหน้านี้ อิสราเอลได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว ขณะที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีเมื่อช่วงต้นเดือน ส่วนเยอรมนีได้ประกาศคำแนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สามเมื่อสัปดาห์ก่อน.-สำนักข่าวไทย

1 4 5 6 7 8 28
...