เจนีวา 1 ก.พ. – องค์การอนามัยโลก ระบุว่า เข็มฉีดยา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด และขวดบรรจุวัคซีนโควิดที่ใช้แล้ว กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มีขยะทางการแพทย์หลายหมื่นตันทั่วโลกที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
องค์การอนามัยโลก ระบุในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ว่า ขยะทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด ที่มีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิววัตถุ มีแนวโน้มทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากเข็มฉีดยา หรือติดเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคภัยได้ ส่วนชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่เก็บขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจติดเชื้อโรคต่าง ๆ ผ่านการแพร่กระจายในอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาขยะ การดื่มน้ำคุณภาพไม่ดี หรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรค รายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเร่งปรับปรุงและลงทุนในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การลดใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง และการใช้ชุดป้องกันติดเชื้อที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้
รายงานขององค์การอนามัยโลก ยังระบุว่า มีชุดตรวจหาเชื้อโควิดราว 140 ล้านชุด ที่อาจกลายเป็นขยะพลาสติกและสารเคมีที่มีน้ำหนักราว 2,600 ตัน ซึ่งมีขนาดเท่ากับพื้นที่ 1 ใน 3 ของสระว่ายน้ำโอลิมปิก นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า วัคซีนโควิดราว 8,000 ล้านโดสทั่วโลก ทำให้เกิดขยะที่เป็นขวดแก้ว กระบอกฉีดยา เข็มฉีดยา และกล่องนิรภัย มากถึง 144,000 ตัน
องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า ทั่วโลกได้สั่งซื้ออุปกรณ์ป้องกันติดเชื้อส่วนบุคคล (PPE) ราว 87,000 ตัน หรือเทียบได้กับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงินหลายร้อยตัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผ่านระบบของสหประชาชาชาติ หรือยูเอ็น นับถึงเดือนพฤศจิกายนปีก่อน และอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะในท้ายที่สุด ทั้งนี้ รายงานขององค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า ขยะเหล่านี้ไปกระจุกตัวรวมกันอยู่ที่ใด แต่กล่าวถึงความท้าทายในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการบำบัดและกำจัดขยะที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ชนบทของอินเดีย รวมถึงปัญหาการกำจัดกากตะกอนอุจจาระจากสถานที่กักตัวผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในมาดากัสการ์.-สำนักข่าวไทย