เจนีวา 23 ก.ย. – องค์การอนามัยโลกปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้พลังงานสะอาดและป้องกันการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ โดยพบว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนถึงปีละกว่า 7 ล้านราย
องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศครั้งใหม่ เช่น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เป็นผลมาจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายล้านคน เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ค่ามาตรฐานในบรรยากาศของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งปรับลดลงจากเกณฑ์เดิมที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการสูดอากาศที่มีค่าฝุ่นพีเอ็มระดับต่ำในระยะยาวยังคงมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง และส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ
ในขณะเดียวกัน ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เผยว่า มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนปีละกว่า 7 ล้านรายทั่วโลก และมีผลวิจัยที่ชี้ว่า แม้มลพิษทางอากาศจะอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ระบบสมองไปจนถึงทารกที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์มารดา องค์การอนามัยโลกหวังว่าการปรับระดับเกณฑ์คุณภาพอากาศในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศสมาชิก 194 ประเทศดำเนินการเพื่อลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย ขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการให้คำมั่นเกี่ยวกับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนเปิดฉากการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายนนี้.-สำนักข่าวไทย