สิงคโปร์จะบริจาคเวชภัณฑ์ให้อาเซียนรับมือภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข

สิงคโปร์ 26 ต.ค. – นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ประกาศในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ว่า สิงคโปร์จะบริจาคเวชภัณฑ์มูลค่า 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (261 ล้านบาท) ให้กองทุนสำรองระดับภูมิภาค เป็นการสนับสนุนความร่วมมือของอาเซียนเพื่อเตรียมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต นายกรัฐมนตรีลีกล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ตุลาคมและมีสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ของบรูไนเป็นประธานว่า อาเซียนจำเป็นต้องแก้ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด สิงคโปร์ได้บริจาควัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ ผ่านโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก และกำลังขยายบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนด้วยการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนใหม่ 3 แห่ง เพื่อช่วยกระจายวัคซีนโควิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม นายกรัฐมนตรีลียังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งเมื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อโควิด โดยยกตัวอย่างโครงการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์ที่อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ ทั้งยังเห็นด้วยกับการนำกรอบแผนงานโครงการระเบียงท่องเที่ยวของอาเซียนที่เริ่มไว้เมื่อปีก่อนมาปรับใช้ รวมถึงการเดินหน้าแก้ปัญหาด้านดิจิทัลเพื่อให้สามารถเปิดการเดินทางระหว่างกันได้อย่างปลอดภัย เช่น การพัฒนาใบรับรองด้านสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่อแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิดและการฉีดวัคซีนโควิดให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีลียังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งกระบวนการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกและมีความเกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้. -สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นแต่งตั้งชาวสิงคโปร์เป็นทูตพิเศษเมียนมาคนใหม่

นิวยอร์ก 26 ต.ค. – นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ประกาศแต่งตั้งนางโนลีน เฮย์เซอร์ นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์ เป็นทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาคนใหม่ของยูเอ็น นางเฮย์เซอร์ วัย 73 ปี ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สำนักข่าวซีเอ็นเอของสิงคโปร์ว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาของยูเอ็น และจะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เธอหวังว่าจะได้รับฟังความปรารถนาและมุมมองของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาทางการเมืองในเมียนมาโดยสันติเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของชาวเมียนมาทุกคน ทั้งนี้ นางเฮย์เซอร์จะเข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาต่อจากนางคริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ นักการทูตชาวสวิส วัย 58 ปี ที่ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ก่อนหน้านี้ นางเฮย์เซอร์เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงของยูเอ็นมาแล้วหลายตำแหน่ง เช่น เลขาธิการคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและสังคมประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอสแคป ในปี 2550-2557 และที่ปรึกษาพิเศษประจำติมอร์-เลสเตในปี 2556-2558 นอกจากนี้ เธอยังเคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และทางการเมียนมาในด้านการพัฒนาและการลดปัญหาความยากจน. -สำนักข่าวไทย

สิงคโปร์ต้อนรับนักเดินทางภายใต้โครงการไม่ต้องกักตัว

สิงคโปร์ต้อนรับนักเดินทางกลุ่มแรกในวันนี้ ภายใต้โครงการการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวเพื่อดูอาการ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการทำให้สิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางด้านการบินกลับมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้งแม้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเพิ่มขึ้น

สิงคโปร์จะไม่กักตัวคนจากอีก 8 ประเทศถ้าฉีดวัคซีนครบ

สิงคโปร์จะอนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติจากอีก 8 ประเทศ ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ครบสองโดส เข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันอังคารเป็นต้นไป ตามนโยบายผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อโควิด

สิงคโปร์เปิดพรมแดนรับผู้เดินทางไม่ต้องกักตัว

สิงคโปร์กำลังจะเปิดพรมแดนรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเพิ่มประเทศมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องกักตัวเพื่อดูอาการ ในขณะที่สิงคโปร์กำลังพยายามจะกลับมาเสริมสร้างสถานะประเทศที่เป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศอีกครั้วและเตรียมปรับตัวเพื่อไปสู่ “นิวนอร์มอล” หรือ ความปกติใหม่ในการอยู่ร่วมกันกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

บ. ยาสิงคโปร์ทำข้อตกลงกับรัฐบาลจัดซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์”

สิงคโปร์ 6 ต.ค. – เอ็มเอสดี บริษัทเวชภัณฑ์ในเครือเมอร์ค แอนด์ โค ของสหรัฐ ประกาศวันนี้ว่า บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลสิงคโปร์ในการเป็นผู้จัดหาและจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หากยาดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาล เอ็มเอสดีระบุในแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้สิงคโปร์ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เมื่อยาดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ขณะที่กรรมการผู้จัดการบริษัทเอ็มเอสดีประจำสิงคโปร์และมาเลเซีย กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าจำเป็นต้องมียาและวัคซีนหลายขนานเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์จัดการโรคโควิด-19 แบบมองการณ์ไกลของสิงคโปร์ และคำมั่นของรัฐบาลที่จะทุ่มทุนในเวชภัณฑ์และวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการระบาด เอ็มเอสดีระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ได้รับการพัฒนาโดยเมอร์ค แอนด์ โค และริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ และกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่สาม ก่อนหน้านี้ เมอร์ค แอนด์ โค เผยเมื่อวันศุกร์ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง.-สำนักข่าวไทย

สิงคโปร์อนุมัติกฎหมายควบคุมการแทรกแซงจากต่างชาติ

สิงคโปร์ 5 ต.ค. – รัฐสภาสิงคโปร์ให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลมีอำนาจกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับการแทรกแซงจากต่างประเทศ แต่ทำให้พรรคฝ่ายค้านและผู้เชี่ยวชาญรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับขอบเขตและข้อจำกัดที่กว้างเกินไปในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล สื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ รัฐบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้การแทรกแซงจากต่างประเทศ (FICA) และผ่านความเห็นชอบในช่วงค่ำวันจันทร์ด้วยคะแนนสนับสนุน 75 ต่อ 11 เสียง กฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้รัฐบาลมีสิทธิควบคุมอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการเว็บไซต์ข้อมูล รวมถึงการระงับเนื้อหาและลบแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า กฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุมการสร้างพันธมิตรในต่างประเทศ การชักชวนธุรกิจต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายกับต่างชาติ รวมถึงการจัดหาเงินบริจาค การหารือนโยบายหรือประเด็นการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ทำร่วมกับต่างชาติหรือพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการสนับสนุนงานกุศล นายเค ชันมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาว่า ตราบใดที่ชาวต่างชาติดำเนินการอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และไม่ได้มีส่วนในความพยายามบิดเบือนวาทกรรมทางการเมืองของสิงคโปร์ หรือบ่อนทำลายผลประโยชน์สาธารณะ เช่น ความมั่นคง ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า การใช้ภาษาที่กว้างเกินไปในกฎหมายทำให้เสี่ยงต่อการจับกุมแม้เป็นกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย ขณะที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลจัดการกับสำนักข่าวอิสระได้ ด้านผู้เชี่ยวชาญและพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ได้เรียกร้องให้จำกัดขอบเขตการใช้อำนาจที่แคบลงและให้อำนาจทางตุลาการมากขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย

ชาวบ้านโวย F-16 สิงคโปร์ ซ้อมบินเสียงดัง สร้างความเดือดร้อน

กรรมาธิการการต่างประเทศลงพื้นที่จี้กองบิน 23 อุดรธานี แก้ปัญหาเครื่องบินรบ F-16 ของสิงคโปร์ ซ้อมบินเสียงดัง เดือดร้อนชาวบ้าน โรงเรียนต้องหยุดเรียนชั่วคราว เพราะเสียงเครื่องบินรบกวนเด็กนักเรียน

สิงคโปร์คิดค้นผ้าพันแผลต้านแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียน

สิงคโปร์ 20 ก.ย. – นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์หาวิธีจัดการกับเศษอาหารด้วยการคิดค้นผ้าพันแผลเจลต้านเชื้อแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้ง ศาสตราจารย์วิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เผยว่า กระบวนการดังกล่าวใช้วิธีสกัดผงเซลลูโลส ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผนังเซลล์พืช จากเปลือกทุเรียนที่ถูกหั่นและนำไปตากแห้ง แล้วนำมาผสมกับสารกลีเซอรอล ขั้นตอนนี้จะทำให้ได้ไฮโดรเจลนิ่มเพื่อนำมาใส่ในผ้าพันแผล ชาวสิงคโปร์กินทุเรียนปีละ 12 ล้านลูก เมื่อทุกคนกินเนื้อทุเรียนหมดก็ทำให้เกิดการทิ้งหรือเผาเมล็ดและเปลือกทุเรียนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์เฉินยังระบุเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีดังกล่าวยังนำมาใช้เปลี่ยนขยะอาหารอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลืองและธัญพืช ให้เป็นไฮโดรเจลได้เช่นกัน ซึ่งเป็นวิธีช่วยลดขยะอาหารในประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับผ้าพันแผลแบบดั้งเดิม ผ้าพันแผลแบบออร์กาโน-ไฮโดรเจล (organo-hydrogel) จะช่วยรักษาความชื้นและความเย็นของบริเวณบาดแผลได้ดีกว่า ซึ่งจะทำให้บาดแผลหายได้ไวขึ้น ในขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ระบุว่า การนำวัสดุเหลือใช้และยีสต์มาผลิตผ้าพันแผลต้านเชื้อแบคทีเรียนั้นคุ้มค่ากว่าการผลิตผ้าพันแผลด้วยวิธีดั้งเดิมที่ต้องใช้สารประกอบโลหะราคาสูง เช่น ไอออนเงินหรือไอออนทองแดง  ส่วนผู้ค้าส่งทุเรียนชาวสิงคโปร์รายหนึ่ง กล่าวว่า เขาต้องผ่าทุเรียนมากกว่าวันละ 30 ลังในช่วงฤดูกาลทุเรียน หรือมากถึงวันละ 1,800 กิโลกรัม และมองว่าการนำส่วนต่าง ๆ ของผลไม้ที่ถูกทิ้งมาพัฒนาเป็นเจลต้านเชื้อแบคทีเรียถือเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน. -สำนักข่าวไทย

โรงเรียนประถมในสิงคโปร์เรียนออนไลน์หลังยอดโควิดพุ่ง

โรงเรียนประถมในสิงคโปร์จะหันไปใช้วิธีเรียนจากที่บ้านผ่านทางออนไลน์เป็นเวลา 10 วัน ก่อนที่จะถึงการสอบระดับชาติครั้งสำคัญ ในขณะที่สิงคโปร์รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่ 935 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว

ผู้นำสิงคโปร์ชนะคดีหมิ่นประมาท

ศาลสูงของสิงคโปร์ตัดสินในวันนี้ให้บล็อกเกอร์ของเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าว 2 คน จ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่คนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ รวมกันเป็นเงิน 370,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ ประมาณ 8.9 ล้านบาท จากกรณีเผยแพร่บทความเกี่ยวกับสถานะของบ้านของนายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของนายลี เซียน ลุง

1 16 17 18 19 20 66
...