รัสเซียถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุวิกฤติอาหารโลก

นิวยอร์ก 30 มี.ค. – รัสเซียถูกกล่าวหาในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารโลก และทำให้ผู้คนทั่วโลกเสี่ยงต่อภาวะอดอยากจากการเปิดฉากทำสงครามในยูเครน ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็นตะกร้าขนมปังของยุโรป (breadbasket of Europe) นางเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวในระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครนว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นผู้ริเริ่มสงครามในยูเครนและทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารโลก รัสเซียและประธานาธิบดีปูตินต้องเป็นผู้รับผิดชอบจากการนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาหารโลก ในขณะเดียวกัน นายนิโคลัส เดอ ริวิแยร์ ผู้แทนถาวรฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติ ระบุว่า การบุกโจมตียูเครนอย่างหนักหน่วงของรัสเซียทำให้ทั่วโลกเสี่ยงเกิดภาวะอดอยากมากขึ้น และประชากรของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก แต่รัสเซียจะอ้างว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตรที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลต่อภาวะความมั่นคงอาหารโลก ด้านนายวาสซิลี นีเบนเซีย ผู้แทนถาวรรัสเซียประจำสหประชาชาติ แย้งว่า แท้จริงแล้ว ภาวะผันผวนของตลาดอาหารโลกเกิดขึ้นจากการที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างไม่รู้จักควบคุมต่อรัสเซีย ทั้งนี้ นางเชอร์แมนและนายเดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก รายงานว่า ยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก มีอัตราส่งออกข้าวสาลีร้อยละ 30 ข้าวโพดร้อยละ 20 และน้ำมันทานตะวันร้อยละ 75 ของโลก. -สำนักข่าวไทย

สหรัฐจ่อเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

สหรัฐจะผลักดัน ให้สหประชาชาติเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมากขึ้นอีก หลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธเมื่อวานนี้

ยูเอ็นระบุมีผู้ลี้ภัยในโปแลนด์กว่า 1.8 ล้านคน

สหประชาชาติ ระบุมีผู้อพยพจากยูเครนข้ามพรมแดนไปยังโปแลนด์แล้วกว่า 1.8 ล้านคน ซึ่งสหประชาชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่และสิ่งของช่วยเหลือเพิ่มเติมไปยังโปแลนด์

สหประชาชาติไม่พบอาวุธชีวภาพในยูเครน

ผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติ เผยไม่พบว่ายูเครนมีอาวุธชีวภาพ หลังรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนมีห้องทดลองอาวุธชีวภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

“ปูติน” ประกาศไม่หยุดโจมตีจนกว่ายูเครนจะยอมแพ้

เคียฟ 7 มี.ค. – ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยืนยันว่าจะเดินหน้าปฏิบัติการบุกโจมตียูเครนต่อไปยกเว้นยูเครนจะประกาศยอมแพ้ ขณะที่การโจมตีของรัสเซียทำให้ชาวยูเครนราว 200,000 คนไม่สามารถอพยพออกจากเมืองมารีอูปอล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุในแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีปูตินกล่าวในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี ว่า รัสเซียพร้อมเจรจาเพื่อยุติการต่อสู้ในยูเครน แต่ความพยายามที่จะยืดการเจรจาออกไปทำให้ผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ รัสเซียจะยุติปฏิบัติการพิเศษในยูเครนโดยมีข้อแม้ว่ายูเครนต้องประกาศหยุดปฏิบัติการทางทหารและทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ทางการยูเครนรายงานว่า ชาวยูเครนส่วนใหญ่ในเมืองมารีอูปอล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของยูเครน ต้องหลบภัยกระสุนและใช้ชีวิตอยู่ในห้องใต้ดิน เนื่องจากไม่สามารถอพยพออกจากเมืองดังกล่าวที่ถูกกองทัพรัสเซียปิดล้อมมาเป็นเวลากว่า 6 วัน จนทำให้ชาวเมืองถูกตัดอาหาร น้ำดื่ม ไฟฟ้า และเครื่องทำความร้อน องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุเมื่อวันอาทิตย์ว่า ขณะนี้ มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิต 364 ราย ในจำนวนนี้ มีเด็กเสียชีวิตกว่า 20 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยว่า ผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ถูกโจมตีด้วยอาวุธระเบิดที่หวังผลเป็นวงกว้าง เช่น การยิงปืนใหญ่ การใช้ระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง การโจมตีด้วยขีปนาวุธ และการโจมตีทางอากาศ.-สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นเผยมีผู้อพยพออกจากยูเครน 1 ล้านคนใน 7 วัน

เคียฟ 3 มี.ค. – องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคนอพยพออกจากยูเครนนับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พร้อมเตือนว่าคลื่นผู้อพยพในระดับนี้อาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเผยว่า มีประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคนอพยพออกจากยูเครนตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 จากประชากรทั้งหมด 44 ล้านคนของยูเครน และเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 7 วัน ทั้งยังคาดการณ์ว่าคลื่นผู้อพยพจะพุ่งขึ้นเป็น 4 ล้านคน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นและหน่วยงานอื่น ๆ กล่าวชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนในการเตรียมความพร้อมรองรับคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ด้วยการให้ที่พักพิงในบ้านเรือน โรงกีฬา และอาคารต่าง ๆ  ในขณะเดียวกัน โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า คลื่นผู้อพยพจากยูเครนที่มีจำนวนสูงในระดับนี้อาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ข้อมูลของยูเอ็นยังระบุว่า มีชาวยูเครนกว่า 500,000 คนที่อพยพไปยังโปแลนด์ ตามมาด้วยฮังการี 116,000 คน มอลโดวา 79,000 คน และสโลวะเกีย 71,200 คน.-สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นเผยมีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตอย่างน้อย 136 ราย

นิวยอร์ก 2 มี.ค. – องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตอย่างน้อย 136 ราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็ก 13 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 400 คน นับตั้งแต่รัสเซียนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครนนับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว ยูเอ็นเผยว่า ขณะนี้ มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตอย่างน้อย 136 ราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็ก 13 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 400 คน นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีก่อน ขณะที่ลิซ ทรอสเซลล์ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่ยูเอ็นรายงาน ผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกโจมตีด้วยระเบิด การโจมตีทางอากาศ และเหตุระเบิดอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี ข้อมูลของรัฐบาลยูเครนระบุว่า ขณะนี้มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิต 352 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,684 คน.-สำนักข่าวไทย

ทูตสหรัฐประจำยูเอ็นตำหนิข้ออ้างรัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน

สหประชาชาติ 22 ก.พ.- เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN ) ระบุว่า ประธานาธิบดีรัสเซียรับรอง 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครนให้เป็นรัฐอิสระ หวังหาข้ออ้างเพื่อเดินหน้ารุกรานยูเครน และ “ไร้เหตุผลมาก” ที่อ้างว่าสั่งให้ส่งกำลังทหารเข้าไปรักษาสันติภาพใน 2 แคว้นนี้ นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่จัดขึ้นอย่างฉุกเฉินเมื่อค่ำวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียออกกฤษฎีกาในเช้าวันเดียวกัน รับรองแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ของยูเครนให้เป็นรัฐอิสระ ตามที่ทั้งสองแคว้นนี้ประกาศแยกตัวจากยูเครนตั้งแต่ปี 2557 และสั่งการให้ส่งทหารรัสเซียเข้าไปประจำการ นางโทมัส-กรีนฟิลด์กล่าวว่า ปูตินได้ทำให้โลกต้องตัดสินใจเลือกและห้ามเบือนหน้าหนี เพราะประวัติศาสตร์ได้สอนแล้วว่า หากเบือนหน้าหนีในยามที่กำลังเผชิญกับความเป็นศัตรูเช่นนี้จะเกิดความเสียหายร้ายแรงติดตามมา เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็นกล่าวว่า ปูตินกล่าวอ้างผิด ๆ อย่างร้ายแรงเกี่ยวกับยูเครนมาโดยตลอด หวังหาข้ออ้างทำสงคราม และหลังจากนั้นก็ประกาศทันทีว่าได้ส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนที่มีบางส่วนอยู่ในแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ ปูตินอ้างเรื่องไม่จริงว่า ยูเครนต้องการอาวุธนิวเคลียร์จากชาติตะวันตก และอ้างว่ารัสเซียมีสิทธิเหนือดินแดนทั้งหมดที่เคยอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียเมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งอาจรวมไปถึงฟินแลนด์ เบลารุส จอร์เจีย และมอลโดวา เป็นการย้อนเวลากลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งที่โลกยังไม่มียูเอ็น ซึ่งก่อตั้งขึ้นบนหลักการของการปลดปล่อยอาณานิคม ไม่ใช่การรวบกลับมาเป็นอาณานิคมอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย

จีนตกลงให้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นเยือนซินเจียง

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานวันนี้ว่า จีนตกลงอนุญาตให้ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เดินทางเยือนเขตซินเจียงได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันโอลิมปิก ฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ทูตพิเศษเมียนมาของยูเอ็นร้องประกาศหยุดยิงในเมียนมา

สิงคโปร์ 28 ธ.ค. – ดร. โนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาคนใหม่ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า เธอรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา และเรียกร้องให้ใช้ประกาศหยุดยิงในช่วงปีใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดร. เฮย์เซอร์ ระบุในแถลงการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาของยูเอ็นเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า เธอขอให้ยุติการสู้รบทั่วประเทศ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากขึ้น และเคารพต่อข้อผูกพันตามสัญญาภายใต้กฎหมายด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องพลเรือน การเดินทางอย่างปลอดภัยเมื่อจำเป็น และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้หลบหนีความรุนแรง ดร. เฮย์เซอร์ ยังระบุว่า ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเมียนมาทำให้พลเรือนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่นฐาน ซึ่งรวมถึงสตรีและเด็ก ในจำนวนนี้ มีหลายคนกำลังหาที่หลบภัยโดยการข้ามพรมแดนเพื่อขอความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ในขณะที่อีกหลายคนยังคงติดค้างอยู่ในเมียนมา ขณะนี้ เธอกำลังปรึกษากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการสนับสนุนและช่วยเหลือเมียนมา โดยจะยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศที่สอดคล้องกันบนพื้นฐานของความสามัคคีในภูมิภาค แถลงการณ์ของ ดร. เฮย์เซอร์ มีขึ้นหลังเกิดเหตุสังหารหมู่และเผาคนในวันคริสต์มาสอีพที่รัฐกะยา ทางตะวันออกของเมียนมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย โดยที่กลุ่มเฝ้าระวังและสื่อท้องถิ่นของเมียนมากล่าวหาว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้. -สำนักข่าวไทย

มาเลเซียจะของบยูเอ็นพัฒนาแผนหลังประสบอุทกภัย

กัวลาลัมเปอร์ 27 ธ.ค.- มาเลเซียจะของบประมาณจากกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียวหรือจีซีเอฟ (GCF) ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) เพื่อพัฒนาแผนการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากเผชิญกับอุทกภัยใหญ่อยู่ในขณะนี้ มาเลเซียมีฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 48 คน ใน 8 รัฐ และมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องปรับปรุงการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศรุนแรงในอนาคต ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของมาเลเซียตอบข้อถามสื่อเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องแผนการปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศว่า กระทรวงจะของบประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100 ล้านบาท) จากจีซีเอฟ เพื่อนำมาพัฒนาแผนการปรับตัวแห่งชาติภายในสิ้นปี 2565 แผนนี้จะให้ความสำคัญเรื่องน้ำ การเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร สาธารณสุข ป่าไม้และโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้กระทรวงยังมีแผนระยะยาวที่จะของบประมาณจากกองทุนนี้มาดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย อย่างไรก็ดี งบประมาณสำหรับวางแผนการปรับตัวดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 78,100 ล้านบาท) ที่รัฐบาลมาเลเซียจัดสรรไว้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย เช่น สร้างทำนบกั้นน้ำ สร้างพื้นที่รับน้ำ ขุดลอกแม่น้ำ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไคลมาแอกชันมาเลเซียชี้ว่า การปรับตัวต้องใช้งบประมาณสูงมากเมื่อเทียบกับการบรรเทาภัย เพราะต้องยกเครื่องการวางผังเมืองทั้งหมด ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เงินมหาศาล.-สำนักข่าวไทย

1 7 8 9 10 11 38
...