16 มิถุนายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
เป็นการบิดเบือนบทสรุปของบทความที่ตั้งสมมติฐานผลกระทบจาก Anti-Idiotype Antibodies ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือวัคซีนโควิด-19 แต่ไม่ได้บอกว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากแอนติบอดีที่้กระตุ้นโดยวัคซีน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา โดย Gateway Pundit เว็บไซต์ที่มีประวัติเผยแพร่ข้อความต่อต้านวัคซีนโควิด-19 อ้างผลวิจัยที่พบว่า แอนติบอดีที่ร่างกายมนุษย์สร้างเพื่อกำจัดโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 อาจนำไปสู่อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปริมาณแอนติบอดีที่ร่างกายผลิตหลังจากฉีดวัคซีนก็สูงกว่าการติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ข้ออ้างดังกล่าวนำมาจากบทความของวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine (NEJM) ที่กล่าวถึงผลกระทบของ Anti-Idiotype Antibodies จากการติดเชื้อไวรัส และตั้งสมมติฐานถึงผลกระทบของ anti-idiotype antibodies จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือการวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ดี บทความดังกล่าวไม่ได้มาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลด้านการวิจัยอื่นๆ เพื่อเสนอแนะหัวข้อวิจัยในอนาคต
Anti-Idiotype Antibodies เป็นแอนติบอดีที่หน้าที่ควบคุมการทำงานของแอนติบอดีชนิดอื่นๆ ในร่างกาย
เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนหนามทั้งจากการติดเชื้อหรือจากวัคซีน ร่างกายจะสร้าง Anti-Spike Antibodies หรือแอนติบอดีสำหรับจัดการกับโปรตีนหนามโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันร่างกายก็ยังสร้าง Anti-Idiotype Antibodies เพื่อควบคุมการทำงานของแอนติบอดีชนิดต่างๆ รวมถึง Anti-Spike Antibodies ด้วยเช่นกัน
ในบทความของ NEJM ผู้เขียนได้ให้ข้อเสนอแนะว่า มีความเป็นไปได้ที่ Anti-Idiotype Antibodies อาจส่งผลทางกายภาพต่อร่างกาย หลังพบว่าหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก (enterovirus coxsackievirus B3) จะสร้าง Anti-Idiotype Antibodies ในร่างกายมากขึ้น นำไปสู่การป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในภายหลัง
จากข้อสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนจึงแนะนำให้มีการวิจัยเพิ่มเติมว่า Anti-Idiotype Antibodies มีความสัมพันธ์กับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงแบบเดียวกับที่พบในผู้รับวัคซีนโควิด-19 โดยพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็มจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบประมาณ 21 ถึง 27 คนต่อประชากร 1 ล้านคน
อย่างไรก็ดี วิลเลียม เมอร์ฟีย์ ศาสตราจารย์ด้านตัจวิทยา มหาวิทยาลัย University of California Davis เจ้าของบทความ และ แดน แลนโก ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard University รองบรรณาธิการวารสาร NEJM ยืนยันว่าคำกล่าวอ้างของเว็บไซต์ Gateway Pundit เป็นการบิดเบือนบทสรุปของบทความ ทีมวิจัยตั้งสมมติฐานถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดจาก Anti-Idiotype Antibodies จากการติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้เจาะจงว่าวัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เนื่องจากยังมีตัวแปรอีกมากมายให้พิจารณา เช่น กลุ่มประชากร, ลักษณะการติดเชื้อและปริมาณเชื้อ, ชนิดของวัคซีน จนถึงวิธีการตรวจสอบหาสาเหตุ
นอกจากนี้ การอ้างว่าการฉีดวัคซีนเป็นอันตรายยิ่งกว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพราะวัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีสูงกว่าการติดเชื้อ ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิด เพราะบทความใน NEJM ไม่ได้กล่าวถึง Anti-Spike Antibodies ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 แม้แต่น้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter