6 พฤษภาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Stopfake.org (ยูเครน)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: พิสูจน์ไม่ได้
บทสรุป:
เป็นรายงาน Case Report ของผู้ป่วยเพียงรายเดียวที่อาการมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL แย่ลงหลังฉีดวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้น แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าวัคซีนมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเผยแพร่ทาง Facebook ในประเทศยูเครน เป็นการเปรียบเทียบผล CT scan ของชายวัย 66 ปีที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น พบการกระจายตัวของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปทั่วร่างกายหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ทำให้เชื่อว่าวัคซีนโควิด 19 มีส่วนกระตุ้นการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ข้อมูลที่ถูกแชร์นำมาจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Medicine ในหัวข้อ “การแพร่กระจายที่รวดเร็วของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL (Angioimmunoblastic T-cell lymphoma) ของผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นจากบริษัท Pfizer/BioNTech”
รายงานเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายนปี 2021 ชายวัย 66 ปีผู้นี้ ได้รับการวิฉัยว่ามีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณข้างลำคอ โดย 6 เดือนก่อนหน้านั้นเขาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบครบโดสจาก Pfizer ซึ่งในประวัติพบว่า เขายังมีอาการความดันโลหิตสูง, ภาวะคอเลสเทอรอลในเลือดสูง และเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2021 ไม่กี่วันหลังจากนั้น ชายผู้นี้พบว่า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอด้านขวามีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งการเปรียบเทียบผล CT scan ก่อนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน และหลังฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 30 กันยายน พบการกระจายตัวของมะเร็งในร่างกายอย่างรวดเร็ว
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin (NHL) ที่พบได้ยาก ส่วนใหญ่พบในชายสูงอายุมากกว่าผู้หญิงและไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สันนิฐานว่าเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดพลาด สาเหตุจากการกระตุ้นโดยแอนติเจน มีไวรัสหลายชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL ทั้งไวรัส EBV, ไวรัส CMV, ไวรัสตับอักเสบซี, ไวรัสเฮอร์ปิสชนิดที่ 6 และ 8 (ก่อโรคหัดดอกกุหลาบและโรคมะเร็งคาโปซี) และไวรัส HIV
ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ตั้งข้อสันนิฐานว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นอาจมีส่วนทำให้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าวัคซีน mRNA กระตุ้นการขยายตัวและเร่งอัตราการเมแทบอลิซึมต่อมน้ำเหลืองมากกว่าปกติ ซึ่งผล CT scan พบว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แขนข้างที่ฉีดวัคซีน มีขนาดใหญ่กว่าแขนอีกข้างอย่างชัดเจน และมีขนาดเพิ่มขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
อย่างไรก็ดี รายงานชิ้นนี้จัดอยู่ในรูปแบบของ Case Report หรือรายงานอาการของผู้ป่วยเพียงรายเดียว ไม่ใช่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บทสรุปของผู้เขียนเป็นเพียงข้อสันนิฐาน ที่ไม่มีงานวิจัยใดมารองรับ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าวัคซีน mRNA กระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL
นอกจากนี้ผู้เขียนรายงานยังเสนอแนะว่า ข้อสันนิฐานในรายงานชิ้นนี้ไม่สามารถใช้อ้างอิงกับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด AITL รายอื่นๆ เนื่องจากมีปัจจัยของโรคที่แตกต่างกัน การวิจัยเชิงลึกในอนาคตจำเป็นต้องตรวจสอบผ่านเครื่อง PET/CT เครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระดับโมเลกุล เพื่อยืนยันผลการวิจัยให้แม่นยำยิ่งขึ้น และไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร ประโยชน์ในการป้องกันโรคของวัคซีนโควิด 19 ก็ยังมีมากกว่าความเสี่ยงการเกิดอาการข้างเคียงที่พบได้ยากจากวัคซีนเช่นเดิม
หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงการป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด 19
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.stopfake.org/ru/manipulyatsiya-busternaya-doza-vaktsiny-protiv-covid-19-usilivaet-rost-rakovyh-kletok/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter