ชัวร์ก่อนแชร์: ดร.โรเบิร์ต มาโลน ย้ำวัคซีนโควิด-19 เป็นอันตราย จริงหรือ?

3 พฤษภาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ


ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ

บทสรุป:


เป็นข้อมูลเท็จที่อ้างโดย โรเบิร์ต มาโลน แพทย์ผู้มีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ทำให้ Spotify ถูกร้องเรียนเรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม

ข้อมูลที่ถูกแชร์:

มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดย โรเบิร์ต มาโลน แพทย์ผู้มีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สัมภาษณ์ผ่านรายการพอดแคส The Joe Rogan Experience ทาง Spotify เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2021 จนกระแสของรายการสร้างการโต้ตอบทางสื่อสังคมออนไลน์กว่า 51,000 ครั้ง


จากการตรวจสอบโดย Science Feedback พบว่า เนื้อหาในการให้สัมภาษณ์ตลอด 3 ชั่วโมงล้วนเป็นการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งสิ้น โดยคลิปรายการฉบับเต็มที่อัพโหลดทาง YouTube ถูกลบในภายหลัง

มีนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 270 คน ร่วมกันร่างจดหมายเปิดผนึกไปยัง Spotify เพื่อเรียกร้องให้ Spotify มีมาตรการควบคุมการเผยแพร่ข่าวปลอมให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และวิจารณ์การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ของ โรเบิร์ต มาโลน

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปี 2021 Twitter ได้ระงับบัญชีของ โรเบิร์ต มาโลน เป็นการถาวร ในข้อหาละเมิดนโยบายข้อห้ามด้านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด 19 ผ่านทาง Twitter

FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:

Science Feedback ทำการหักล้างข้อมูลเท็จที่ โรเบิร์ต มาโลน ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Joe Rogan Experience โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังนี้

  1. การบังคับฉีดวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เป็นการละเมิดกฏนูเรมเบิร์กและข้อกำหนดของเบลมอนต์ รีพอร์ตในเวลาเดียวกัน (ข้อมูลเท็จ)

ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาชนิดไหน เป็นวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลอง วัคซีนได้รับการยืนยันถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย

กฏนูเรมเบิร์ก (The Nuremberg Code) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 1947 ระหว่างการไต่สวนแพทย์ผู้เป็นสมาชิกพรรคนาซี ในข้อหาดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับเชลยในค่ายกักกัน ส่วน เบลมอนต์ รีพอร์ต (The Belmont Report) คือรายงานที่ร่างพร้อมกับการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการวิจัยแห่งชาติสหรัฐฯ เมื่อปี 1974 เนื้อหากล่าวถึงหลักจริยธรรมพื้นฐานและข้อกำหนดเกี่ยวกับการวิจัยในมนุษย์

วัคซีนโควิด-19 ผ่านการทดสอบด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยในการทดลองทางคลินิก ก่อนจะได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ใช่ยาที่อยู่ในระหว่างการทดลอง การฉีดให้กับประชาชนจึงไม่เป็นการละเมิดกฏนูเรมเบิร์กและเบลมอนต์ รีพอร์ตแต่อย่างใด

  1. มีงานวิจัยพบว่าชาวอเมริกันครึ่งล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ขัดขวางการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น (พิสูจน์ไม่ได้)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าประเทศจีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย ประสบความสำเร็จจากการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะรัฐอุตตรประเทศในอินเดีย ที่อ้างว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ในการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีความน่าเชื่อถืออย่างสูง ไม่พบว่าการใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine มีประโยชน์ต่อการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การใช้ยา Ivermectin คือปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐอุตตรประเทศลดลง นอกจากนี้ ราจิบ ดาสกุบตะ นักระบาดวิทยายังชี้แจงต่อเว็บไซต์ The Conversation ว่า ปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียลดลง น่าจะมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและการเกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชากร

โรเบิร์ต มาโลน ยังอ้างว่ายา Ivermectin และ Hydroxychloroquine เป็นหนึ่งในยาที่มีความปลอดภัยสูงที่สุด เนื่องจากยาทั้ง 2 ชนิดถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก (Model List of Essential Medicines)

อย่างไรก็ดี สถานะดังกล่าวจะอ้างได้ก็ต่อเมื่อตัวยาถูกใช้อย่างเหมาะสมและในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช้ถูกใช้ในฐานะยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ต่างไม่แนะนำให้ใช้ยา Ivermectin และ Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด 19 นอกจากเพื่อการทดลองทางคลินิก

  1. มีงานวิจัยกว่า 140 ชิ้นที่ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติมีประสิทธิผลเหนือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน (ทำให้เข้าใจผิด)

หนึ่งในงานวิจัยที่ โรเบิร์ต มาโลน ยกมากล่าวอ้าง คืองานวิจัยในประเทศอิสราเอลที่พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน มีโอกาสติดเชื้อและรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสถึง 13 เท่า

อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่กล่าวอ้างยังอยู่ในสถานะงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ และพบว่าเป็นงานวิจัยมีความลำเอียงหลายส่วน เช่น พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีน เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง (ความลำเอียงด้านการเลือกกลุ่มตัวอย่าง) และมีการนำผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ออกไปจากกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ (ความลำเอียงด้านการคัดเลือกผู้รอดชีวิต)

แม้จะพบว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันจากวัคซีน มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อในอนาคตทั้งคู่ แต่ความแตกต่างคือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมีความปลอดภัยมากกว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านภูมิคุ้มกันวิทยายังพบว่า ผู้รับเชื้อแต่ละคนจะมีระดับภูมิคุ้มกันธรรมชาติไม่เท่ากัน มีผู้ป่วยบางคนที่หายป่วยจากโควิด-19 โดยที่ร่างกายไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสโควิด 9 เลย และยังเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้ออีกครั้งในเวลาอันสั้น

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นระดับภูมิคุ้มได้อย่างดี ซึ่งหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยังแนะนำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย

  1. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนมากกว่า (ทำให้เข้าใจผิด)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วไปฉีดวัคซีน จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ทั้งหัวใจเต้นผิดปกติ, ความดันโลหิตสูง, โรคลมหลับ, อาการขาอยู่ไม่สุข และอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่มักพบในกลุ่มผู้รับวัคซีนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

แม้ข้อมูลจาก U.K. ZOE COVID หน่ายงานวิจัยในสหราชอาณาจักร จะพบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน เมื่อฉีดวัคซีนจะมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์มากว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า แต่อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการรุนแรงเหมือนที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง อาการที่พบบ่อยคือความอ่อนล้า, ปวดศีรษะ, หนาวสั่น, ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ, และการเป็นไข้ และไม่พบรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแม้แต่รายเดียว

ทอม สเปนเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัย King’s College London และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ U.K. ZOE COVID ชี้แจงว่า ถึงแม้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนมากกว่า แต่อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีนได้ดีกว่า และคาดว่าจะได้รับการป้องกันที่ดีกว่า แม้จะฉีดวัคซีนแค่เข็มเดียว

สอดคล้องกับผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ที่พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ระดับแอนติบอดี้จะเทียบเท่าหรือสูงกว่าคนทั่วไปที่ฉีดวัคซีน mRNA ครบ 2 โดส

  1. อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน มีความรุนแรงจนผู้ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โอกาสเกิดสูงถึง 1 ต่อ 2,700 คน (ทำให้เข้าใจผิด)

ข้ออ้างดังกล่าว นำมาจากการศึกษาในฮ่องกงและตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Infectious Diseases ของมหาวิทยาลัย Oxford University เป็นการศึกษาอาการหัวใจอักเสบในเยาวชนอายุ 12 ถึง 17 ปีที่รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง คือโอกาสการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเยาวชนเพศชายหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 เท่านั้น ส่วนอัตราส่วนการเกิดอาการทั้งหมดจะอยู่ที่ 1 ต่อ 5,400 คน

นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังแตกต่างจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง ที่พบว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสัดส่วนเพียง 1.6 ต่อ 100,000 คน สอดคล้องกับผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา, อิสราเอล และเดนมาร์ก ที่พบสัดส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เพียง 0.5 ถึง 5.7 ต่อ 100,000 คน

ส่วนข้ออ้างที่ว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนมีความรุนแรงก็ไม่เป็นความจริง เพราะส่วนใหญ่อาการที่พบจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้ยังพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจมากกว่าการฉีดวัคซีนถึง 5 เท่า

  1. ลิปิดในวัคซีน mRNA จะเข้าไปอยู่ในรังไข่ และจะส่งผลต่อประจำเดือนของสตรี (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างว่าวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จะทำให้การเจริญพันธุ์ของผู้รับวัคซีนมีปัญหา โดยอ้างว่า อนุภาคนาโนของลิปิด ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มและลำเลียง mRNA เข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปอยู่ในรังไข่ของผู้หญิง ซึ่งโอกาสจะเกิดสูงถึง 11%

ข้ออ้างดังกล่าว เป็นการบิดเบือนรายงานที่ Pfizer ส่งไปให้หน่วยงานเภสัชกรรมและเครื่องมือแพทย์ (PMDA) ของประเทศญี่ปุ่นพิจารณา โดยเนื้อหาในรายงานกล่าวถึงการกระจายตัวของอนุภาคนาโนของลิปิดที่พบในเนื้อเยื่อบริเวณต่างๆ ในหนูทดลองที่ฉีดอนุภาคนาโนของลิปิดเข้าร่างกาย โดยพบว่าอนุภาคนาโนของลิปิดส่วนใหญ่จะพบแค่บริเวณที่ฉีดยา และพบการเจือปนที่รังไข่สูงสุดแค่ 0.095% เท่านั้น

แม้จะมีรายงานพบว่า ผู้หญิงหลายคนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีปัญหารอบประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มีอาการเลือดออกระหว่างมีประจำเดือนที่นานกว่า, มากกว่า หรือเจ็บปวดมากกว่าเดิม

ในช่วงแรก ข้อมูลด้านผลกระทบต่อประจำเดือนจากวัคซีนโควิด-19 ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากข้อมูลในระหว่างการทดลองมีจำกัด

กระทั่งเดือนมกราคมปี 2022 ที่ผ่านมา มีการวิจัยที่ตีพิมพ์ทางวารสาร Obstetrics & Gynecology เป็นการศึกษารอบประจำเดือนของผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 4,000 คน โดยใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบภาวะเจริญพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบรอบการมีประจำเดือนระหว่างก่อนและหลังฉีดวัคซีน ผลปรากฏว่าหลังจากฉีดวัคซีน รอบประจำเดือนจะนานกว่าก่อนฉีดวัคซีนด้วยจำนวนเวลาไม่ถึง 1 วัน ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นอกจากนี้ผลการตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนยังยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ในเพศชายและหญิงแต่อย่างใด

  1. โปรตีนหนาม ทั้งจากไวรัส, อะดีโนไวรัส หรือจากวัคซีนล้วนเป็นพิษต่อร่างกาย (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างงานวิจัยที่พบว่า โปรตีนหนามจากวัคซีนโควิด-19 เป็นพิษต่อร่างกาย และนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง ทั้ง ลิ่มเลือดอุดตัน, สมองอักเสบ และภาวะภูมิต้านตนเอง เนื่องจากงานวิจัยพบว่าโปรตีนหนามปริมาณมากได้เข้าสู่กระแสเลือดของสัตว์ทดลอง

อย่างไรก็ดี อูริ มานอร์ นักชีวฟิสิกส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยจากสถาบัน Salk Institute และเจ้าของงานวิจัยที่ โรเบิร์ต มาโลน กล่าวอ้าง ชี้แจงผ่านทาง Twitter ว่า ปริมาณโปรตีนหนามที่พบในกระแสเลือดของสัตว์ทดลองเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากวัคซีน ส่วนปริมาณโปรตีนหนามจากวัคซีนที่พบในกระแสเลือดของมนุษย์มีปริมาณน้อยมาก และไม่มีหลักฐานว่าโปรตีนหนามจากวัคซีน mRNA เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

  1. การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ก่อให้เกิดประสิทธิผลลบกับไวรัสโอไมครอน ผู้ฉีดเสี่ยงติดเชื้อยิ่งขึ้นจากภาวะ ADE (ทำให้เข้าใจผิด)

โรเบิร์ต มาโลน อ้างงานวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก ที่พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนลดลงตามจำนวนการฉีดวัคซีน และยังเชื่อมโยงประสิทธิผลที่ลดลงของวัคซีนกับภาวะ ADE หรือการเร่งโดยอาศัยแอนติบอดี (Antibody-Dependent Enhancement) ปรากฏการณ์ที่แอนติบอดี้ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านไวรัส กลับช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ที่มีอาการ ADE เสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต

อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่กล่าวอ้างเป็นงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ โดย คริสเตียน โฮล์ม แฮนเซน เจ้าของงานวิจัยยืนยันว่า โรเบิร์ต มาโลน ตีความผลวิจัยไม่ถูกต้อง

ที่ผ่านมาไม่พบว่าวัคซีนโควิด 19 ก่อให้เกิดอาการ ADE ตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเสริมสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แม้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง แต่วัคซีนยังสามารถป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 70%

  1. การฉีดวัคซีนซ้ำๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันหยุดทำงาน จากปรากฏการณ์ High Zone Tolerance (ทำให้เข้าใจผิด)

High Zone Tolerance คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันหยุดการตอบสนอง เมื่อตรวจจับแอนติเจนของเชื้อโรคในปริมาณมากและบ่อยเกินไป

มาร์โค คาวาเลรี หัวหน้าฝ่ายวางแผนวัคซีนขององค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) อธิบายผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคมปี 2022 ว่า ปรากฏการณ์ High Zone Tolerance จะเป็นที่น่ากังวลหากว่ามีการกำหนดให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถี่เกินไป เช่นฉีดทุกๆ 4 เดือน

แต่ปัจจุบันยังไม่หลักฐานว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ละโดสตามระยะที่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ High Zone Tolerance แต่อย่างใด ซึ่ง มาร์โค คาวาเลรี ยังย้ำถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมสร้างระดับภูมิคุ้มกัน

  1. ปาเลสไตน์ฉีดวัคซีนน้อยกว่าอิสราเอล แต่อิสราเอลเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า (ข้อมูลเท็จ)

ข้อมูลจาก Our World In Data เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ถึง 3 เข็มในประเทศอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 72%, 66%, และ 56% ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ถึง 3 เข็มในประเทศปาเลสไตน์อยู่ที่ 43% 31% และ 0.1%

แม้อิสราเอลจะมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงกว่าปาเลสไตน์อย่างมาก แต่การอ้างว่าอิสราเอลมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าปาเลสไตน์เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะในช่วงเวลาที่โรเบิร์ต มาโลนกล่าวอ้าง ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากร 1 ล้านคนในปาเลสไตน์มีสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตในอิสราเอล

นอกจากนี้ การนำยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ใน 2 ประเทศมาเปรียบเทียบ ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานยืนยันประสิทธิผลของวัคซีนได้ เนื่องจากมีตัวแปรหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ทั้งด้านข้อมูลประชากรและความสามารถในการตรวจหาเชื้อ และการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อ

  1. เชื้อโอไมครอนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง แต่แพร่เชื้อได้ง่ายและสามารถติดได้ทุกคน ไม่ว่าจะสวมหน้ากาก, เว้นระยะห่างทางสังคม หรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม (ขาดบริบท)

แม้ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีผู้ป่วยไม่น้อยที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้วป่วยหนักจนต้องรักษาตัวโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนไม่ให้มองว่าเชื้อโอไมครอนเป็นไวรัสที่ไม่รุนแรง เพราะการติดเชื้อคราวละมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก

แม้เชื้อโอไมครอนจะลดทอนประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน แต่ข้อมูลเบื้องต้นในประเทศแอฟริกาใต้พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ครบ 2 โดส ป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้ถึง 70%

ส่วนสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เปิดเผยรายงานว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยยืดระยะเวลาป้องกันและลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 90%

  1. คนกลัวโควิด 19 จากสภาวะ Mass Formation Psychosis (ข้อมูลเท็จ)

โรเบิร์ต มาโลน ให้ข้อสรุปในรายการ Joe Rogan Experience ว่า การตื่นกลัวของผู้คนในสังคมระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คือสภาวะที่เรียกว่า Mass Formation Psychosis ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนจำนวนมากถูกชักจูงใช้เชื่อในสิ่งที่อยู่นอกเหนือเหตุและผล โดยเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษที่ 20 และ 30 เมื่อชาวเยอรมันผู้มีการศึกษา ถูกสะกดจิตให้หลงเชื่อผู้นำของชาติ นำไปสู่ยุคแห่งการเรืองอำนาจของนาซี

เจย์ แวน บาเวล รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัย New York University ผู้ศึกษาเรื่องเอกลักษณ์กลุ่มและพฤติกรรมหมู่มากว่า 2 ทศวรรษ ยืนยันว่า Mass Formation Psychosis ไม่จัดว่าเป็นอาการที่มีอยู่จริงในทางวิชาการ

สตีเวน เจย์ ลินน์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Binghamton University ในนิวยอร์ก ชี้แจงว่า การอ้างว่าฝูงชนสามารถถูกล่อลวงและชักจูงให้ไปทางไหนก็ได้ เป็นเพียงความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของวิธีสะกดจิตเท่านั้น

คริส คุกกิ้ง อาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกษ์ มหาวิทยาลัย University of Brighton ชี้แจงว่า แม้จะมีหลักฐานว่า ฝูงชนสามารถถูกโน้มน้าวด้วยพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ความเชื่อที่ว่า คนจำนวนมากสามารถถูกสะกดจิตจนไม่สามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ เป็นแค่ความเชื่อที่ปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน

ข้อมูลอ้างอิง:

https://healthfeedback.org/claimreview/robert-malone-misleading-unsubstantiated-claims-covid-19-safety-efficacy-vaccines-joe-rogan-experience-spotify-podcast/

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยึดรถบอสดิไคอน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน ขณะที่พนักงานสอบสวนชุดเล็กประชุมสรุปรายงานผลการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เตรียมรายงานคณะทำงานชุดใหญ่พรุ่งนี้

ระเบิดสะพานโจร

“ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง

กสทช. จับมือตำรวจ สานต่อยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง อย่างอุกอาจ เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ว.วชิรเมธี

พระพยอมชี้ ท่าน ว.วชิรเมธี นั่งบนหิมะ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

เพจดังลงภาพท่าน ว.วชิรเมธี นั่งสมาธิบนหิมะที่ญี่ปุ่น ด้านพระพยอมชี้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี คงอยากทดสอบความอดทน

ข่าวแนะนำ

ต่างชาติประทับใจซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

วันนี้มีการซ้อมใหญ่เสมือนจริง ครั้งที่ 2 ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่คนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ประทับใจกับความงดงาม

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” ยันไม่ปล่อยผ่านคดีตากใบ เร่งตามผู้ต้องหาก่อนหมดอายุความ

ผบ.ตร.เผยคดีตากใบ เร่งติดตามตัวผู้ต้องหาก่อนหมดอายุความ เข้าตรวจค้น 29 ครั้ง เฝ้าจุดระวังติดตามกว่า 180 ครั้ง ยันไม่ปล่อยผ่าน