เคยไหม ? พิมพ์คำถามเกี่ยวกับอะไรบางอย่างใน google เพียงแค่ครั้งเดียว โฆษณาและเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ ก็โผล่ขึ้นมาบนหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียเราเต็มไปหมด ราวกับอ่านใจเราออกว่ากำลังต้องการอะไร ซึ่งการที่มันรู้ใจเราขนาดนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเกิดจากระบบ “อัลกอลิทึ่ม” ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเรานั่นเอง
ระบบอัลกอลิทึ่มของ Social Media
ระบบ “อัลกอลิทึ่ม” คือระบบที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สร้างขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ให้มีความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูลยิ่งขึ้น ระบบอัลกอลิทึ่มจะสังเกตพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของผู้ใช้ ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรืออยากรู้เรื่องอะไร ณ เวลานั้น ๆ เพื่อที่จะคัดกรอง โชว์เฉพาะข้อมูลที่ผู้ใช้อยากเห็น และสนใจ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้อยากจะไปเที่ยวทะเลที่ภูเก็ต แล้วไปค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ google ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเว็บเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน ดูระยะทาง อ่านรีวิวต่าง ๆ ระบบอัลกอลิทึ่มตัวนี้ก็จะวิเคราะห์เนื้อหา และเข้าใจว่าผู้ใช้รายนี้ต้องการจะไปภูเก็ต มันจึงเน้นกรองเนื้อหาที่เกี่ยวกับที่พัก การท่องเที่ยว มาให้โดยเฉพาะ และในทางกลับกัน ระบบก็จะคัดข้อมูลที่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน ทำให้หน้าฟีดของผู้ใช้มีแต่เพจท่องเที่ยว ทริปทัวร์เต็มไปหมด และอาจจะคงอยู่แบบนี้ไปอีกหลายวัน จนกว่าผู้ใช้จะไปค้นหาข้อมูลเรื่องใหม่ ๆ
ระบบอัลกอลิทึ่มจะสังเกตพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของเรา ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรืออยากรู้เรื่องอะไร ณ เวลานั้น ๆ เพื่อที่จะคัดกรอง โชว์เฉพาะข้อมูลที่เราอยากเห็น และสนใจ ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากจะไปเที่ยวทะเลที่ภูเก็ต แล้วเราไปค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ google ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเว็บเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน ดูระยะทาง อ่านรีวิวต่าง ๆ ระบบอัลกอลิทึ่มตัวนี้ก็จะวิเคราะห์เนื้อหา และเข้าใจว่ายูเซอร์นี้ต้องการจะไปภูเก็ต มันจึงเน้นกรองเนื้อหาที่เกี่ยวกับที่พัก การท่องเที่ยว มาให้โดยเฉพาะ และในทางกลับกัน ระบบก็จะคัดข้อมูลที่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน ทำให้หน้าฟีดของเรามีแต่เพจท่องเที่ยว ทริปทัวร์เต็มไปหมด และอาจจะคงอยู่แบบนี้ไปอีกหลายวัน จนกว่าเราจะไปค้นหาข้อมูลเรื่องใหม่ ๆ
สรุปคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นบนหน้าฟีด ได้ถูกวางระบบมาไว้อย่างดีเพื่อให้ตรงกับไลฟสไตล์ของเราที่สุด โดยหลักแล้ว มันควรจะเป็นระบบที่ก่อประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายให้กับเรา แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันยังมีผลกระทบที่แฝงมากับเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ด้วย ซึ่งเราเรียกหนึ่งในผลกระทบนี้ว่า “ปรากฏการณ์ Filter Bubble”
ปรากฏการณ์ Filter Bubble ส่งผลอย่างไร ?
Filter bubble เรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “ฟองสบู่ตัวกรอง” คือการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียติดอยู่แต่ในโลกของตัวเอง ติดอยู่ในฟองสบู่ที่มีแต่เรื่องที่เราสนใจและเห็นดีเห็นงามด้วย จนมองข้ามไปว่ายังมีเรื่องราวอีกหลายมุมมองที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเราได้เหมือนกัน ซึ่งการที่โซเชียลมีเดียโชว์แต่เนื้อหาที่ถูกจริตผู้ใช้อย่างเดียวนั้น มันจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มว่า เป็นระบบที่ไม่มีความเป็นกลาง และสนับสนุนให้เรามีพฤติกรรมเสพสื่อแค่ด้านเดียวจนเคยชิน
เปรียบเทียบดั่งคนที่ชอบฟังเพลง kpop เขาก็จะเห็นแต่คนที่เป็นแฟนเพลง kpop เต็มหน้าฟีดไปหมด เจอแต่พวกเดียวกัน จนบางทีก็อาจลืมไปว่าข้างนอกนี้ ก็ยังมีคนที่ชอบฟังเพลงไทย เพลงสากล หรือเพลงลูกทุ่งมากเหมือนกัน เพียงแต่ว่าหน้าฟีดของเขาไม่ยอมแสดงให้เห็นนั่นเอง
นอกจากนี้ พฤติกรรมของตัวผู้ใช้เองก็ยังมีส่วนอีกด้วย โดยการจงใจปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่อยากเห็น กดบล็อก หรือกด Unfriend คนที่เราไม่ชอบ หรือคนที่มีความคิดเห็นที่ไม่ถูกจริตกับเรา เป็นผลให้พื้นที่โซเชียลมีเดียของเราเหลือแต่คนที่มีแนวคิดเดียวกับเรา และเห็นชอบกับเราเต็มไปหมด
ลักษณะแบบนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น Echo Chamber หรือ ห้องเสียงสะท้อน เปรียบได้กับการอยู่ในห้องปิด เช่นห้องคาราโอเกะ ที่เวลาเราพูดหรือร้องอะไรไป มันก็สะท้อนกลับมาแบบเดียวกัน เพราะว่ามันมีแต่เสียงของเราที่สะท้อนไปมา เปรียบได้กับความเห็นข้างเดียวที่มีแต่คนคิดแบบเดียวกัน สนับสนุนกันเอง และพอมาอยุ่รวมกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงอะไรเลย ก็ทำให้เราเผลอเชื่อไปว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมน่าจะคิดเหมือนเรา ทั้งที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราเห็นอาจจะเป็นแค่โลกใบเล็ก ๆ ที่ถูกขังอยู่ในฟองสบู่ โดยมีกำแพงเป็นระบบอัลกอริทึ่มที่โซเซี่ยลมีเดียสร้างขึ้นมาก็ได้
และเพราะเหตุนี้เอง แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียทั้งหลายที่ใช้ระบบอัลกอริทึ่มแบบนี้จึงโดนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ว่าเป็นเหตุไปทำให้ผู้ใช้มีโลกที่แคบขึ้น แทนที่จะเป็นการเปิดโลกกว้างอย่างที่ใครหลาย ๆ คนคิดกัน
เราจะออกจากสภาวะ Filter Bubble ได้อย่างไร ?
- ตรวจสอบเนื้อหาและข้อมูลที่ได้รับมากับหลาย ๆ แหล่งอ้างอิง เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลมันถูกต้อง ไม่ถูกบิดเบือน หรือเป็นข้อมูลแค่ด้านเดียว
- ลองพูดคุยกับคนที่มีความเห็นต่างบ้าง เพื่อที่จะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ และข้อเท็จจริงบางอย่างที่เราอาจจะมองข้ามไป เช่น การไปกดไลคเพจที่มีความเห็นทางการเมืองต่างจากเรา เผื่อว่าจะได้เห็นความจริงอีกด้านที่ไม่เคยรู้มาก่อนจากในสังคมของเรา
- รู้เท่าทันสื่ออยู่เสมอ อย่าไหลไปกับสิ่งที่สื่อนำเสนอไปเสียทุกอย่าง เพราะบางทีสื่อก็ไม่ได้มีความเป็นกลางเสมอไป มันเป็นเรื่องยากที่สื่อจะสามารถนำเสนอในได้ทุกแง่มุมของเรื่องใดเรื่องนึง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือการมองหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง ให้รอบด้าน และอย่ายึดติดกับแหล่งข่าวเดิม ๆ
ที่มา: “ปรากฏการณ์ Echo Chamber บนโลกออนไลน์” โดย อัลเบอท ปอทเจส
เรียบเรียงโดย: ชณิดา ภิรมณ์ยินดี
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter