ชัวร์ก่อนแชร์: ภูมิคุ้มกันธรรมชาติดีกว่าวัคซีน จริงหรือ?

6 เมษายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Factcheck.org (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ


ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด

บทสรุป:


  1. เป็นการอ้างผลวิจัยก่อนการระบาดของไวรัสโอไมครอน และก่อนการอนุมัติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
  2. งานวิจัยเบื้องต้นหลายชิ้นยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันการติดเชื้อดีกว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติ

ข้อมูลที่ถูกแชร์:

มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา โดย แรนด์ พอล วุฒิสมาชิกรัฐเคนตักกี จากพรรครีพับลิกัน ให้สัมภาษณ์กับรายการข่าว Fox News เพื่อยืนยันว่าภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด 19 มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีกว่าการฉีดวัคซีน โดยอ้างผลการศึกษาของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC)

FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:


เป็นจริงที่ว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติมีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อโควิด 19 มากกว่าการฉีดวัคซีนในยุคที่ไวรัสเดลต้าระบาด แต่ในยุคที่ไวรัสโอไมครอนซึ่งมีคุณสมบัติหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเริ่มระบาดตั้งแต่ปลายปี 2021 ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เป็นเข็มที่ 3 สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าการมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ

ดีพทา พัททาชาร์ยา นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัย University of Arizona อธิบายว่าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส ก่อนการระบาดของไวรัสเดลต้า ระดับของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อแทบไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในยุคที่ไวรัสเดลต้าระบาด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อโควิด 19 มาก่อน จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ครบ 2 โดส แม้จะไม่เท่ากับการฉีดเข็มกระตุ้นก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 โดสหรือเคยติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์ไหนๆ มาก่อน ภูมิคุ้มกันก็ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากไวรัสโอไมครอนไปได้ เนื่องจากโอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากโควิด 19 สายพันธุ์อื่นๆ กระนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 หรือการฉีดวัคซีนหลังการติดเชื้อโควิด 19 จะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอไมครอนได้อย่างดี โดยเฉพาะป้องกันการป่วยหนักจากการติดเชื้อ

ข้อมูลที่ แรนด์ พอล อ้างว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ดีกว่าวัคซีน นำมาจากผลวิจัยของ CDC ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มกราคมปี 2022 ซึ่งเป็นการสำรวจการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด 19 ของประชากรในรัฐนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2021 โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปี 2021 พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ในนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตถึง 1 ใน 6 ของสหรัฐอเมริกา

รายงานพบว่ากลุ่มที่รักษาตัวในโรงพยาบาลมากที่สุด ได้แก่ผู้ไม่ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ไวรัสเดลต้ายังไม่แพร่ระบาด กลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนได้รับการป้องกันดียิ่งกว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อแล้วฉีดวัคซีน และเป็นช่วงที่พบว่าอัตราการติดเชื้อและรักษาตัวในโรงพยาบาลของกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

แต่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ไวรัสเดลต้าระบาดในสหรัฐฯ กลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิด 19 กลับมีอัตราการติดเชื้อเดลต้าต่ำกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นช่วงที่ประสิทธิผลของวัคซีนเริ่มลดลงและไวรัสเดลต้ามีคุณสมบัติหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า

ผลสำรวจการติดเชื้อในรอบสัปดาห์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมปี 2021 พบว่าเมื่อเทียบกับอัตราการติดเชื้อของกลุ่มผู้ไม่ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อโควิด 19 มาก่อน กลุ่มผู้ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อมาก่อนในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ติดเชื้อโควิด 19 น้อยกว่า 6 เท่าและ 5 เท่า ส่วนกลุ่มผู้ไม่ฉีดวัคซีนและเคยติดเชื้อมาก่อนในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ติดเชื้อโควิด 19 น้อยกว่า 29 เท่าและ 15 เท่า ส่วนกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนและเคยติดเชื้อมาก่อนซึ่งมีภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Hybrid Immunity ทั้งในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ต่างติดเชื้อโควิด 19 น้อยกว่าถึง 33 เท่าและ 20 เท่า

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของภูมิคุ้มกันธรรมชาติ แต่ผลสำรวจดังกล่าวยังไม่ได้ศึกษาถึงประสิทธิผลที่ภูมิคุ้มกันธรรมชาติมีต่อไวรัสโอไมครอน และยังไม่มีการเปรียบเทียบกับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกด้วย

งานวิจัยเบื้องต้นจากนักวิจัยของสถาบัน Ragon Institute โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard University, Massachusetts Institute of Technology และ โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ดีกว่าภูมิคุ้มกันธรรมชาติ

โดยงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ที่วารสารการแพทย์ Cell เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมปี 2021 เป็นการศึกษาจากตัวอย่างเลือดของผู้รับวัคซีนโควิด 19 มากกว่า 200 ราย พบว่าผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA จะมีระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อไวรัสโอไมครอนต่ำกว่าไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ดั้งเดิมเพียงเล็กน้อย

อเลฮานโดร บาลาซ์ส นักวิจัยหลักจากสถาบัน Ragon Institute ซึ่งศึกษาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอไมครอนและโควิด 19 สายพันธุ์อื่นๆ ยืนยันว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA 3 เข็ม และไม่เคยติดเชื้อโควิด 19 มาก่อน มีระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติหรือคนที่เคยติดเชื้อแล้วไปฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็มอีกด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะพยายามไปติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติ

ดร.วิลเฟรโด การ์เซีย เบลทราน นักวิจัยจากสถาบัน Ragon Institute ชี้แจงว่าผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนจะมีระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์สูงกว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และไม่เคยฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อและมีอาการไม่รุนแรงจะมีระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ต่ำมาก

ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rockefeller University ซึ่งผ่านการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) หรือการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ และตีพิมพ์ทางวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปี 2021 บรรยายถึงการศึกษาพลาสม่าจากกลุ่มตัวอย่าง 47 คน ซึ่งพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดสหรือผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 แทบจะไม่มีแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอไมครอน แต่กลุ่มที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 หรือกลุ่มที่เคยติดเชื้อโควิด 19 แล้วฉีดวัคซีน จะมีแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง

พอล บีเนียสซ์ นักไวรัสวิทยาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rockefeller University ชี้แจงว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่เพียงกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แต่ยังยกระดับการทำงานของแอนติบอดีและเซลล์ความทรงจำในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ แม้กับสายพันธุ์ที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเบื้องต้นที่ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโอไมครอนอีกด้วย

งานวิจัยของ Africa Health Research Institute ในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นผลงานก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ได้ศึกษาพลาสม่าจากกลุ่มตัวอย่าง 15 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีน โดยคนทั้งสองกลุ่มต่างติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่้งผู้วิจัยพบว่าระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อไวรัสโอไมครอนและเดลต้าจะเพิ่มขึ้นหลังผู้ติดเชื้อแสดงอาการไปจนถึง 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ซึ่งผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ฉีดวัคซีนจะมีระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อไวรัสเดลต้าที่สูงกว่า ส่วนกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนจะมีระดับแอนติบอดี้ชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ไม่แน่นอน

ผลการศึกษาของ CDC ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มกราคมปี 2022 ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโอไมครอนใน 10 รัฐของสหรัฐฯ โดยพบว่า หลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ประสิทธิผลของวัคซีนจะลดลงเหลือ 57% แต่เมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ประสิทธิผลของวัคซีนจะเพิ่มขึ้นถึง 90% และยังพบว่ากลุ่มผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ต่ำกว่ากลุ่มผู้ไม่ฉีดวัคซีนและกลุ่มผู้ฉีดวัคซีน 2 เข็มอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.factcheck.org/2022/01/scicheck-studies-show-boosted-immunity-against-omicron-with-booster-doses/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

Satellite images show wake of destruction of wildfires burning across California

เปิดปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าแอลเอไหม้ลามหนัก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในเทศมณฑลลอสแอนเจลิสหรือแอลเอ (LA) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐไหม้ลามเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นวิกฤตไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูงฝั่งปอยเปต พบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูง 18 ชั้น ฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เบื้องต้นพบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา และอาคารดังกล่าวถูกระบุเป็นฐานบัญชาการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีคนไทยถูกหลอกไปทำงานที่นี่จำนวนมาก

Palisades Fire

สหรัฐสั่งอพยพกว่าแสนคนหนีไฟป่า 6 จุดในแคลิฟอร์เนีย

ลอสแอนเจลิส 9 ม.ค.- สหรัฐสั่งอพยพประชาชนมากกว่า 100,000 คน เนื่องจากจำนวนไฟป่าที่โหมไหม้ในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 6 จุดแล้ว เพราะกระแสลมแรงเทียบเท่าเฮอริเคนและสภาพอากาศแล้ง เจ้าหน้าที่เผยว่า ในจำนวนไฟป่าทั้ง 6 จุด มีอยู่ 4 จุดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้เลย ไฟป่าจุดแรก คือ พาลิเซดส์ไฟร์ (Palisades Fire) เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 7 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นใกล้แปซิฟิก พาลิเซดส์ ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยทางตะวันตกเฉียงเหนือของเทศมณฑล ต้นเพลิงมาจากไฟไหม้พุ่มไม้ที่โหมไหม้จนเกินควบคุมเพราะกระแสลมแรง ต้องอพยพคนอย่างน้อย 30,000 คน ไฟป่าจุดที่ 2 คือ อีตันไฟร์ (Eton Fire) เกิดขึ้นในเย็นวันเดียวกันที่หุบเขาอีตันแคนยอน เผาไหม้พื้นที่ขยายวงกว้างมากพอ ๆ กับไฟป่าจุดแรก ไฟป่าจุดที่ 3 คือ เฮิร์ตส์ไฟร์ (Hurst Fire) เกิดขึ้นกลางดึกวันเดียวกันในย่านซิลมาร์ของนครลอสแอนเจลิส จากนั้นในเช้าวันที่ 8 มกราคมเกิดไฟป่าจุดที่ 4 คือ วูดลีไฟร์ […]

ข่าวแนะนำ

เบื้องหลังล่าจ่าเอ็ม

เปิดเบื้องหลังตามล่า “จ่าเอ็ม” ข้ามแดนกัมพูชา

“บิ๊กจ๋อ” เปิดเบื้องหลังตามล่า “จ่าเอ็ม” ข้ามแดนกัมพูชา ชี้ คลาดกันแบบหายใจรดต้นคอ ก่อนประสานตำรวจกัมพูชารวบตัว เผย ผู้ต้องหาร้องขอเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย หวั่น ถูกประชาทัณฑ์

งานวันเด็ก

วันเด็กทั่วไทยคึกคัก สร้างความสุขและรอยยิ้ม

ผู้ใหญ่ใจดี ทั้งภาครัฐ เอกชน หลายหน่วยงานทั่วประเทศ จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ร่วมสนุก สร้างรอยยิ้มเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2568

ดับไฟป่าดงพญาเย็น

ระดมกำลังดับไฟป่า ป่าสงวนแห่งชาติ “เขาลอย” ต่อเนื่อง

กรมป่าไม้ – กรมอุทยานฯ – อบต. พญาเย็น ระดมกำลังดับไฟป่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “เขาลอย” ต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการทั้งทางภาคพื้นและใช้ ฮ. ทิ้งน้ำดับไฟ