10 ธันวาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- แม้ผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอน 4 รายแรกจะฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบครบโดส แต่มีรายงานพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อไวรัสโอไมครอนโดยยังไม่ฉีดวัคซีนเช่นกัน
- ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุต้นกำหนดของไวรัสโอไมครอนได้อย่างแน่ชัด
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา โดย Gateway Pundit เว็บไซต์ที่นำเสนอแนวคิดต่อต้านวัคซีนโควิด 19 อ้างว่าไวรัสโอไมครอนจะพบแต่ในคนที่ฉีดวัคซีนครบโดส เนื่องจากผู้ติดเชื้อ 4 รายแรกที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโอไมครอนในประเทศบอตสวานา ล้วนเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบโดสทุกคน จนกลายเป็นข้อความที่มีการโต้ตอบทางสื่อสังคมออนไลน์กว่า 4,000 ครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
แม้ผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโอไมครอน 4 รายแรกจะฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบครบโดสทั้งหมด แต่การอ้างว่ามีแต่ผู้ฉีดวัคซีนเท่านั้นที่ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีรายงานพบนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ผู้หนึ่งในประเทศเบลเยียมติดเชื้อไวรัสโอไมครอน
ปัจจัยที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 จำนวนมาก เนื่องจากการตรวจหาเชื้อไวรัสโอไมครอนมักจะพบผู้ติดเชื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศ สาเหตุเพราะหลายประเทศออกนโยบายไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ฉีดวัคซีน จึงทำให้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนแบบครบโดสเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ไวรัสโอไมครอนเกิดจากการกลายพันธุ์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ฉีดวัคซีนหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันต้นกำเนิดและเส้นทางการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนได้อย่างแน่ชัด
มีรายงานแจ้งว่า ก่อนการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ผลจากการรวบรวมตัวอย่างระบุว่าไวรัสโอไมครอนเคยแพร่ระบาดมาก่อนในประเทศ เยอรมนี, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าเชื้อไวรัสโอไมครอนได้รับการยืนยันครั้งแรกจากตัวอย่างที่ส่งตรวจเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2021 แต่ไม่มีการเปิดเผยที่มาหรือสถานะการฉีดวัคซีนของผู้ติดเชื้อรายนี้
วงการวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สาเหตุของการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 มาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในบางประเทศ โดยเฉพาะหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่ง WHO ก็เคยเตือนปัญหาความไม่เท่าเทียมของการแบ่งปันวัคซีนมาก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายเดือน
มีทฤษฎีเกี่ยวกับการอุบัติของไวรัสโอไมครอนออกมามากมาย ทั้งการกลายพันธุ์ในสัตว์ที่ติดเชื้อจากมนุษย์สู่สัตว์ (Reverse Zoonosis) และสมมติฐานการกลายพันธุ์ในผู้ป่วยโควิด 19 แบบเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบแนวโน้มว่าผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมีความเสี่ยงจะป่วยด้วยโรคโควิด 19 แบบเรื้อรังและสามารถให้กำเนิดสายพันธุ์ไวรัสโควิด 19 ที่เป็นอันตราย
ซาลิม อับดูล คาริม นักภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัย Columbia University ค้นพบว่า ไวรัสโอไมครอนมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับการแพร่ระบาดของไวรัส HIV ในทวีปแอฟริกา
งานวิจัยฉบับก่อนการตีพิมพ์ (preprint) ของ ซาลิม อับดูล คาริม ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 เป็นการศึกษาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 แบบเรื้อรังเป็นเวลา 6 เดือน โดยเริ่มสังเกตอาการตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 พบว่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ในตัวผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์คล้ายกับไวรัสสายพันธุ์เบต้า สายพันธุ์ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ
แม้ไม่อาจยืนยันได้ว่าไวรัสเบต้าเกิดจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV แต่งานวิจัยแสดงหลักฐานว่าการป่วยด้วยโรคโควิด 19 แบบเรื้อรัง เพิ่มโอกาสการอุบัติของไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายได้
ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่ความรุนแรงจากการติดเชื้อยังต้องมีการศึกษาที่ชัดเจนต่อไป ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือการเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด 19 ที่แพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2021 พบว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนถึง 74%
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter